Home Home

โชคดีที่เกิดมาจน โดย ขุนคลังข้างถนน


โชคดีที่เกิดมาจน

บทที่ 1
เกิดมาก็จน

ก่อนผมเกิดคุณพ่อคุณแม่เป็นคนที่มีฐานะ ค่อนข้างดี คุณพ่อเป็นผู้จัดการภาคของบริษัทไทยประสิทธิ์ประกันชีวิต ผู้จัดการใหญ่ในยุคนั้นเป็นคนที่คุ้นเคยกับครอบครัวคุณแม่ที่ภูเก็ต คุณพ่อเลยได้รับการสนับสนุนมากกว่าปกติ คุณแม่ติดตามคุณพ่อมาอยู่ที่กรุงเทพฯ หลังแต่งงานกัน เช่าบ้านหลังใหญ่อยู่ที่ถนนสาทร คุณพ่อมีผลงานดีจนได้ตำแหน่งผู้จัดการภาค ย้ายไปประจำแถวอีสาน คุณพ่อจะกลับบ้านเดือนละครั้ง เพราะสมัยโน้น มีรถไฟอย่างเดียวที่จะเดินทางไปถึงอุดร แต่คุณพ่อเป็นคนดี ยึดมั่นความรักที่มีต่อเพื่อนมนุษย์และครอบครัว คุณพ่อนับถือศาสนาคริสต์ และพาให้เราทุกคนในครอบครัวเป็นคริสต์ด้วย คุณพ่อชอบช่วยเหลือผู้อื่น จนไปรับผิดชอบหญิงคนหนึ่งที่จังหวัดสุรินทร์ มาเป็นภรรยาน้อย ด้วยความสงสาร(บวกกับความน่ารักของเธอ) ทำให้ครอบครัวเราเริ่มมีปัญหา คุณพ่ออ้างพระคัมภีร์ ในเรื่องความรักที่เราต้องมีต่อเพื่อนมนุษย์ คุณพ่อสอนคุณแม่ว่าถ้าเราไม่รักเพื่อนมนุษย์เราจะตกนรก คุณแม่ไม่ยอมเชื่อความคิดความเห็นของคุณพ่อ อ้างว่าคุณพ่อตีความเข้าข้างตนเอง อย่างไรก็ตามคุณพ่อก็ได้ทำให้คุณแม่มีตำแหน่งเป็นเมียหลวง หลังจากที่คุณพ่อไปมีเมียน้อย และคุณแม่มีความเสียใจมากที่ต้องเป็นเมียหลวง เพราะการเป็นเมียธรรมดาคงจะดีกว่า คุณแม่จึงไล่คุณพ่อไม่ให้เข้าบ้าน

คุณพ่อเลยหายตัวไปนับจากนั้นมา หายไปนานกว่า 10 ปี ตอนที่ผมเจอคุณพ่ออีกครั้ง คุณพ่อมีฐานะดีมาก เป็นคนที่มีหน้ามีตาของจังหวัด มีน้องใหม่อีก 10 คน ทุกคนล้วนได้รับการศึกษาเป็นอย่างดี แต่พระเจ้าก็ยังเมตตาพวกผมและพี่น้อง คงเป็นเพราะบารมีของคุณพ่อที่มีความรักในพระเจ้า พวกผมที่ถูกคุณพ่อทิ้งไป จึงได้รับการศึกษาดีไม่แพ้พวกลูก ๆ ของเมียน้อย

ผมเป็นนักเรียนทุนเมื่ออายุได้ 6 ขวบ

คุณแม่เล่าว่า เมื่อไล่คุณพ่อออกจากบ้าน ไม่นึกเลยว่าคุณพ่อจะไปจริง ๆ เพราะพ่อน่าจะรู้ดีว่า พวกเราคงแย่หากไม่มีคุณพ่อ หรือคุณพ่อไม่กลับมา คุณแม่ไม่รู้จะไปตามที่ไหน และไม่นาน คุณแม่ก็ถูกเจ้าของบ้านไล่ให้ไปหาที่อยู่ใหม่เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน คุณแม่เอาผมไปคืนคุณย่า คุณย่าเป็นคนใจดี คุณย่า อาศัยอยู่กับคุณลุงและคุณป้า ซึ่งมีลูก อีก 9 คน ผมกลายเป็นลูกอีกคนของคุณลุงและคุณป้า และอยู่อย่างมีความสุขหลายเดือน แต่แล้ววันหนึ่งปรากฏว่า คุณลุงต้องตัดสินใจว่าจะเลือก คุณป้า หรือคุณย่า เมื่อถูกคุณป้ายื่นคำขาด คุณป้ากล่าวหาคุณย่าว่าไม่มีความยุติธรรม แอบเอาอาหารและขนมไปให้ผมกินตอนกลางคืน และคอยปกป้องผมเวลาผมทำผิด พูดตรง ๆ ก็คือผมเป็นตัวปัญหา คุณลุงเก่งมากในการแก้ปัญหาครั้งนั้น ท่านแก้โดยพาผมไปปล่อยที่โรงเลี้ยงเด็กกำพร้า เพื่อความสงบในครอบครัว และจริงอย่างที่คุณลุงคิด ผมอยู่ที่โรงเลี้ยงเด็กกำพร้า ด้วยความสุข ได้เล่นได้กิน เท่าเทียมกับเด็กคนอื่น ๆ ผมอยู่ที่โรงเลี้ยงเด็กกำพร้าได้สองปี ก็ถึงเวลาที่จะเข้าโรงเรียน ซึ่งปกติสถานที่เลี้ยงเด็กกำพร้าจะส่งเด็กไปเรียนตามโรงเรียนต่าง ๆ แล้วแต่เขาจะเมตตา แต่ผมโชคร้ายโควต้าไม่มี ทำให้ผมต้องเคว้งไป 1 ปี เมื่อคุณแม่จากผมไปทำงานต่างจังหวัด ท่านได้พยายามหางานตามโรงเรียน ท่านเล่าว่า ท่านไปของานทำตามโรงเรียนมากกว่า 50 แห่ง เพราะท่านมีความคิดว่า ต้องหางานทำที่โรงเรียน เพื่อจะได้รับลูก ๆ มาอยู่ด้วย พวกลูก ๆ ก็จะได้เรียนหนังสือและมีอาหารกิน แต่ไม่มีโรงเรียนไหนรับคุณแม่เข้าทำงาน เพราะคุณแม่เอาน้องสาวคนเล็กไปด้วย ติดตามไปทุกแห่งเวลาไปหางานด้วยหวังว่าเจ้าของงาน เขาอาจเห็นแก่เด็กตาดำ ๆ แต่เมื่อเจ้าของงานเขารู้ว่าคุณแม่ยังมีลูกเล็ก ๆ อีก 2 คนที่กรุงเทพ ก็ปฏิเสธ แต่คุณแม่ก็เที่ยวเดินหางานต่อไป คุณแม่เล่าว่าว่ามีคนสนใจขอซื้อน้องสาวที่คุณแม่อุ้มไปด้วย โดยให้ราคาสูงถึงสองร้อยบาท คุณแม่ไม่ยอมขาย ไม่แน่เหมือนกันถ้าเขาให้ราคาดีกว่านี้ คุณแม่อาจจะขายไปแล้วก็ได้

แต่แล้ววันหนึ่งโชคก็มาถึง เมื่อคุณแม่ได้งานที่โรงเรียนสตรีแห่งหนึ่งที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นโรงเรียนวัดชื่อว่า วัดจานะคาม เจ้าของโรงเรียนเป็นแม่ชีฝรั่ง แม่เล่าว่าแม่ชีใจดีมาก นอกจากรับคุณแม่เป็นลูกจ้างแล้ว ยังเร่งให้คุณแม่รีบไปรับผมให้มาอยู่ด้วย และยังไปฝากผมและพี่ชายให้ได้เรียนในโรงเรียนชายที่อยู่ใกล้ ๆ กันอีกด้วย

โรงเรียนชายแห่งนี้แปลก เขามีทุนสำหรับนักเรียนที่เรียนไม่ดีแต่ยากจน จนพูดกันในวงในว่า ทุนเรียนไม่ดีเสือกยากจน ทางโรงเรียนให้นักเรียนทุน เรียนจาก ชั้นประถม 1 ถึง มอ ปลาย รวมแล้วประมาณ 100 ทุน ชั้นและ 10 ทุน ทุกอย่างฟรีหมด ค่าอยู่กิน ค่าเรียน หนังสือเรียน เครื่องใช้ทุกชนิด แม้นแต่เสื้อผ้า และทุกวันอาทิตย์ก็มีการแจกเงินเป็นรายอาทิตย์ด้วย เมื่อตอนผมจบ ผมได้อาทิตย์ละ 25 บาท โรงเรียนมีเงื่อนไขว่า ผู้จะได้ทุนนี้จะต้องมีคนเชื่อถือได้รับรองว่า จน และเมื่อมาเรียนแล้วต้องมีผลการเรียนที่แย่มาก ๆ ดูเหมือนว่าจะต้องอยู่อันดับห้าคนสุดท้าย ของห้องเรียน ถึงจะเข้าเกณฑ์

เรื่องความจนนั้น ผมผ่านสบาย เพราะมีคนขนาดผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นผู้รับรอง และคุณแม่โกหกทางโรงเรียนว่า คุณพ่อตายด้วยไข้มาลาเรีย จึงเป็นอันว่าผมจนจริง แต่เรื่องผลการเรียนนั้น ยังไม่มีข้อพิสูจน์ คุณแม่และผู้อำนวยการโรงเรียนวัดจานะคาม เป็นห่วงมากในเรื่องนี้ เพราะน่าตาของผมนั้น หงิม ๆ แต่ท่าทางสนิมกินใน แต่ทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยดี เพราะผมไม่ทำให้ผิดหวัง เพราะในสามปีแรก ผมก็เรียนซ้ำชั้น ป.1 เป็นเวลาสามปี คงไม่ใช่เพราะผมโง่ อาจมีสาเหตุอื่น เช่นคุณครูน่ารักและใจดีก็เป็นได้ การที่ผมเรียน ปอ 1 3 ปี มีผลทำให้น้องสาวที่ห่างกันสามปี ได้เรียนชั้นเดียวกับผม ผมภูมิใจมากที่ทำได้ดังที่คุณแม่หวัง เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว ผมอาจถูกตัดออกจากผู้ได้รับทุน "ทุนเรียนไม่ดี แต่(เสือก)ยากจน"

โรงเรียนของผม

โรงเรียนของผม อยู่ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นโรงเรียนใหญ่มาก มีพื้นที่ประมาณ 500 ไร่นักเรียน หนึ่งพันกว่าคน ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนประจำ มีอาคารหอพัก 4 หลัง อาคารเรียนอีก 6 หลัง อาคารนอนหลังหนึ่งมีสี่ห้องนอน เรานอนรวมกันห้องละ 100 คน รวมกันแล้ว ก็ หนึ่งพันหกร้อยคน ทั้งหนึ่งพันหกร้อยคนนี้ จะต้องทำอะไรพร้อม ๆ กันหมด อาบน้ำ กินข้าว เล่นกีฬา เข้าห้องทำการบ้าน จะมีแบ่งกันก็ตอนเข้าส้วมเท่านั้น ต้องแย่งกันเพราะเฉลี่ยแล้ว 10 คนต่อหนึ่งห้อง ตามมาตรฐานของสหประชาชาติ คนไหนใช้เวลานาน ก็จะถูกเพื่อนฝูง ตะโกนด่าคุณพ่อคุณแม่ที่บ้านให้สะดุ้ง เป็นครั้งเป็นคราว ตัวเล็กหน่อยก็จะถูกคนโตกว่า แซงคิว หรือตบหัวที่บังอาจออกมาช้า เรื่องถูกผู้ใหญ่แซงคิวนี้ ผมเป็นคนแก้ปัญหาได้เด็ดขาด จนต้องมีการประชุมห้ามแซงคิวกันเป็นอันขาด เพราะผมโดดแซงคิวแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ปล่อยทุกข์มันหน้าประตูนั่นเลย ให้มันรู้กันไปว่าข้าก็แน่เหมือนกัน

เรื่องห้องส้วมนี้ผมถูกรุ่นพี่เขม่นจนถูกตบบ้องหูทำให้เป็นเรื่องที่ต้องจำไปตลอดชีวิต เรื่องก็ไม่มีอะไร มันเป็นความหวังดีของผมต่อส่วนรวมผมแท้ ๆ เรื่องก็มีอยู่ว่า วันหนึ่งผมรอเข้าห้องส้วมอยู่ ก็เห็นมีควันลอยอออกมาจากห้องข้าง ๆ จำนวนมาก เท่านั้นเอง ผมก็ร้อยโวยวาย ว่าไฟไหม้ ไฟไหม้ ทำให้คุณครูผู้ดูแลวิ่งมาดู ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับคนที่อยู่ในห้องส้วมเปิดประตูออกมาทีเดียว 5 คน พวกขี้ยาที่หลบไปสูบบุหรี่ในห้องส้วมเหล่านั้นถูก นวดก้นกันโดยทั่วหน้า แต่หลังจากนั้นไม่นานผมก็ถูก สั่งสอนว่าทีหลังอย่าเสือก ทีหลังอย่าเสือกโดยการถูกรุมซ้อม

โรงเรียนของผมมีสนามฟุตบอล 20 สนาม สนามบาส 20 สนาม สนามวอลเล่ย์ 20 สนาม เฉพาะสามอย่างนี้ก็สามารถลงเล่นได้พร้อมกัน กว่าหนึ่งพันคนแล้ว นอกจากนี้ก็ยังมีโรงยิม และสนามให้วิ่งและฝึกกีฬา ประเภทลู่และลานอื่น ๆ อีก เอาเป็นว่า คนทั้ง หนึ่งพันหกร้อยคนสามารถลงเล่นพร้อมกันเลย ใครอย่าหาว่าผมฝอยนะ ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่อย่างที่ว่า แต่นักเรียนตอนนี้มากขึ้นกว่าเดิมประมาณ 3 เท่า แต่โรงเรียน เขาก็จัดแบ่งให้เล่นเป็นสามพลัด ใครยังไม่ถึงเวลาเล่น ก็เข้าเรียนทำการบ้านหรือดูทีวี ตามแต่จะชอบ หรือตามเวลาที่ถูกกำหนด

โรงเรียนของผมเป็นโรงเรียนของผู้มีอันจะกิน เป็นที่อยู่ที่กินที่เรียนสำหรับผู้อยากให้ลูกหลาน ได้รับการศึกษาดี ๆ แต่ไม่อยากส่งไปเรียนเมืองนอก เพราะสมัยโน้น ไปทีไม่ต้องกลับมาให้เห็นหน้า สี่ปีเลย ที่โรงเรียนปิดเทอมปีละ 3 ครั้ง เรียนสามเดือนหยุดเดือน เพื่อให้มีเวลากลับบ้านไปเป็นขวัญใจ รวมทั้งไปขโมยเงินที่บ้านมาถลุงเล่นอีก ส่วนครูบาอาจารย์ทั้งหลาย จะได้ผ่อนคลาย หลังจากต้องดูแลพวกทะโมนเป็นเวลา 3 เดือนเต็ม การเป็นอยู่ที่โรงเรียนมีกติกาบังคับโดยใช้นาฬิกาเป็นนายใหญ่ ทุก ครึ่งชั่วโมง หรือชั่วโมง ถูกกำหนดตายตัว แบบไม่ต้องดูนาฬิกา เสียงระฆังถัดไปคือคำสั่งให้ทำอะไรทุกคนรู้ดีกันหมด ทุกคนรู้ว่าจะต้องทำอะไรที่ไหนอย่างไร ไม่ต้องมาคอยถาม หรือบังคับด้วยปาก ใครทำผิดก็มีระบบทำโทษที่ค่อนข้างรุนแรงและเจ็บปวด ครูจะใช้ไม้ไผ่แบบตัน ๆ มาฟาดที่ก้นกำหนดจำนวนครั้งตามความหนักเบาของความผิด อย่างเบาที่สุดก็ 1 ทีสำหรับพวกไม่รู้จักรักษาเวลา ซึ่งเรื่องรักษาเวลานี้ปกติทุกคนทำได้เกือบหมด แต่มีพวกข้าประจำที่ไปไม่ทันเวลาตลอด

หากมีเสียงไม้เรียวฟาดก้น มองไปก็จะเป็นพวกหน้าเดิมทั้งนั้น เห็นหน้าแล้วสงสาร ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมเขาต้องมาสายเป็นประจำ แต่มองในแง่ดีก็คิดว่า พวกเขาอยากฝึกความอดทน หรือเป็นพวกท้าทาย เข้าทำนองอยากตี ก็ตีไป เรื่องการไม่รักษาเวลานี้มันแปลก ถึงแม้นผ่านมาแล้วเป็น 30-40 ปี เวลามีนัดกัน พวกที่ชอบโดนตีเพราะผิดเวลาก็ยังผิดเวลาจนถึงทุกวันนี้ และเชื่อว่า เขาก็คงถ่ายทอดมรดกนี้ให้กับลูก ๆ ต่อไปเป็นแน่ หรือเขาอาจมีความคิดว่า มาช้าก็ตายช้า

ก่อนจะข้ามไปเล่าเรื่องอื่น ๆ ก็ขอแจ้งให้ทราบก่อนว่า โรงเรียนของผมนั้น ชื่ออัสสัมชัญ ศรีราชา และเลขประจำตัวของผมคือ 2601 เป็นโรงเรียนวัดฝรั่งแห่งหนึ่งของ คณะนักบวช คริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งเข้ามาเผยแพร่ศาสนาในเมืองไทยนานมากกว่า 100 ปีแล้ว

โชคดีที่เกิดมาจน ตอน 13

ธนาคารที่รัก

ผมเป็นลูกค้าเก่าแก่ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา และประกันชีวิตศรีอยุธยา ตั้งแต่สมัยผมเดินขายหนังสือพิมพ์อยู่ที่เชียงใหม่ ประมาณ พ.ศ. 2520 กว่า ๆ สมัยนั้น คุณผดุงแกเป็นผู้จัดการเขตของกรุงศรีอยุธา แกเคยแนะนำให้ผมรู้จักคุณไมตรี บุญสูง และคุณกฤตย์ รัตนรักษ์ อดีตสองผู้ยิ่งใหญ่ แห่งกรุงศรีอยุธยาประกันชีวิต และธนาคารกรุงศรีอยุธยา

คุณผดุงแกเป็นคนดีมาก แต่อยู่ ๆ ก็มีมือปืน บุกเข้ายิงถึงตายคาที่ มีคนบอกว่าเป็นการยิงผิดตัว เพราะลูกปืนเจาะเข้าหน้าผากพอดี โดยไม่รู้ว่าใครเป็นคนยิง คุณผดุงแกเป็นคนสนุก ไปไหนแกก็ชวนผมไปด้วยเสมอ ขนาดแกจะแต่งเมียน้อยที่อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ แกยังชวนผมไปเป็นเพื่อน โดยผมเป็นคนอาสาพาไปยืมทอง กับร้านทองที่รู้จักกันบริเวณสถานีขนส่งช้างเผือกของเชียงใหม่ ทองไม่มากมายอะไรหนักเพียง 20 บาทเท่านั้น เพื่อเอาเข้าฉากงานแต่งงาน เท่านั้นยังไม่พอ แกมาปรึกษาว่าทำอย่างไรดี ไม่อยากให้มีคนถ่ายรูป เพื่อเป็นหลักฐานไปฟ้องเมียหลวง ที่อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ผมจึงแก้ปัญหาให้แก โดยไปยืมก้องถ่ายหนังขนาด 8 ม.ม. จากคุณบรรจบ ลิ้มจรูญ เจ้าของหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ คุณผดุงแกเห็นผมถือกล้องถ่ายหนังไปด้วย แกหน้าเสียเลย ผมเลยบอกความจริงไปว่า กล้องตัวนี้ไม่มีฟิมล์แต่จะช่วยไม่ให้มีใครถ่ายรูป เพราะผมจะประกาศให้ทุกคนรับรู้ว่า เราจะมีการถ่ายหนัง จะได้ดูกันทั่ว ๆ การใช้กล้องถ่ายรูปอาจทำให้เกิดแสงแฟลชทำให้ฟิลม์หนังเสีย ปรากฏว่าทุกคนเชื่อกันหมด แต่จนถึงวันนี้ เวลาเจอพี่น้องของเจ้าสาว ก็ยังมีการทวงหนังวันแต่งงานของคุณผดุง ทั้ง ๆ ที่คุณผดุงแกตายไปเกือบ 20 ปีแล้ว

ผมใช้บริการของธนาคารกรุงศรีอยุธยามาตลอดระยะเวลา โดยเฉพาะที่เชียงใหม่ ผมเคยได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาอย่างที่จะลืมไม่ได้เลยก็คือตอนช่วงเกิดวิกฤตปี 2540 ผมถูกสถาบันการเงินต่าง ๆ เร่งรัดหนี้สิน ที่ทำเอาเกือบแย่ก็คือกิจการที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งมีทั้งโรงแรม ศูนย์การค้า และบ้านเช่า เกือบถูกฟ้องล้มละลาย แต่ก็ได้ธนาคารกรุงศรีอยุธยาเข้ามาช่วย refinance เป็นเงินเกือบ 30 ล้านบาท โดยผมได้มีการกำกับให้เจ้าหน้าที่ให้ ชำระหนี้ที่ทำไว้กับธนาคาร หากมีปัญหาต้องแจ้งให้ผมรู้ จะได้เข้ามาแก้ไขให้ แต่ในความดีและบุญคุณของธนาคารกรุงศรีอยุธยานี้ ก็มีความเลว ๆ เกิดขึ้นเช่นกัน ทำเอาผมน่าจะแค้นมาก ๆๆๆๆ

เรื่องก็มีอยู่ว่า ผมไปค้ำประกันให้ลูกน้องคนหนึ่ง 5 ล้านบาท ที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาสาขาหาดใหญ่ เมื่อประมาณปี 2547 พอกู้เงินปั้บก็เกิดความไม่สงบในสามจังหวัดภาคใต้ การค้าก็ตกลงมาก ๆ มาแย่ที่สุดก็ตอนที่มีการระเบิดร้านอาหารใกล้ศูนย์หนังสือของผม แต่เจ้าหน้าที่ของธนาคารกรุงศรีก็ดีใจหาย มาเยี่ยมและบอกว่า ไม่เป็นไร ใจเย็น ๆพยามหน่อยก็แล้วกัน ลูกน้องผมก็ตายใจ จัดแจงเอาเงินที่พอมีเหลืออยู่บ้างไปปรับปรุงร้าน โดยย้ายหนังสือขึ้นไปบนชั้นสอง กะว่าจะปล่อยชั้นล่างให้คนอื่นมาเช่าแทน แบบว่าขอตัวเองปลอดภัยไว้ก่อน แกไม่ได้ส่งค่างวดสองเดือน พอขึ้นเดือนที่สาม ผมก็ได้รับจดหมายทวงหนี้จากธนาคาร ผมรีบติดต่อกับสาขาของธนาคารที่หาดใหญ่ ถามว่าค่างวดเดือนละ เท่าใด เขาก็ว่า เดือนละสี่หมื่น ซึ่งผมก็สั่งให้สำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพจัดการจ่ายให้ แต่พอจ่ายได้รับสามเดือน ผมก็ได้รับหมายศาล ให้ผมชำระหนี้ทั้งหมดภายใน 30 วัน ผมก็โวยวายกับเจ้าหน้าที่ของธนาคาร เขาก็ว่าไม่เป็นไรไปทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ศาลดีกว่า โดยให้ผมติดต่อกับทนายความของธนาคารชื่อ คุณสิริพรรณ วังชนะชัย แกก็ดีครับ จัดการเขียนตัวอย่างหนังสือมอบอำนาจด้วยลายมือของแกเองให้ผม (เก็บไว้เป็นที่ระลึก) เพื่อจะได้ทำหนังสือมอบอำนาจแบบรัดกุมและรัดคอตัวผมเองมากที่สุดอย่างนั้นแหละ โดยจำเลยทั้งสามคนทำหนังสือมอบอำนาจ ให้ผมคนเดียวไปทำยอมความที่ศาล

ผมทำตามที่ทนายของธนาคารแนะนำทุกอย่าง ถึงขนาดวันที่ศาลตัดสิน ยังให้ทนายของธนาคารไปฟังคำพิพากษาแทน โดยตัวเองไปลงเล่นน้ำทะเลที่หาดสมิหลา---อยู่ไม่ไกลจากศาลสงขลา ผมมีการประสานงานกับเจ้าหน้าที่สินเชื่อที่สำนักงานใหญ่ของธนาคารที่กรุงเทพ ซึ่งเขาก็แนะนำว่าให้ผม ชำระเดือนละ 8 หมื่นบาทไปก่อนระหว่างที่รอสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ แต่ที่ไหนได้ ผ่านไปสามเดือน เจ้าหน้าที่สินเชื่อ บอกว่ากรรมการไม่อนุมัติการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เนื่องจากว่าผมเป็นลูกหนี้ชั้นดี โดยธนาคารขอเก็บดอกเบี้ยร้อยละ 15 %ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

ผมปรึกษาทนายของผม เขาบอกว่าผมถูกธนาคารหลอก เพราะธนาคารดึงเรื่องจนหมดระยะเวลาการอุธรณ์คำพิพากษา แต่ผมบอกว่าไม่ใช่ ผมถูกธนาคารใช้ศาลเป็นเครื่องมือในการหารายได้มากกว่า และนับเป็นครั้งแรกที่ผมรู้ว่าธนาคารสมัยนี้ยอดจริง ๆ รู้จักใช้ศาล เป็นเครื่องมือในการหารายได้ ซึ่งผมก็ไม่ว่าอะไร เพราะบุญคุณที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยามีต่อผมนั้น มันมากเหลือเกิน จนไม่เหลือความแค้นแม้แต่นิด คิดว่าไปผ่าหัวใจสักครั้งก็แล้วกัน ส่วนที่ธนาคารเรียกเก็บดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีนั้น ก็ไม่ว่ากัน เพราะบุญคุณที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยามีต่อผมนั้นมันมากจริง ๆ


โชคดีที่เกิดมาจน

บทที่ 23
โรงแรมกลางป่า

จากสนามบินอุบลราชธานี ผมนั่งรถยนต์อีก 3 ชั่วโมง ก็ถึงรีสอรท์ของศูนย์อนุรักษ์ชนกลุ่มน้อย ซึ่งอยู่กลางป่า แต่มีถนนลาดยางอย่างดี ไปถึงหน้าอาคารหลังใหญ่สร้างด้วยไม้ เป็นอาคารที่สวยงามมากไม้พื้นแต่ละแผ่นมีความกว้างไม่ต่ำกว่า 100 ซ.ม. และมีความยาวตลอดอาคารถึง 60 เมตร อาคารนี้จัดเป็นห้องอาหารสำหรับรับแขกได้ครั้งละสามถึงห้าร้อยคน ผมได้ทราบว่า ณ ที่แห่งนี้มีเจ้าหน้าที่ประมาณ 200 คน ทำงานอยู่ แต่ในวันที่ผมไปค้างมีผมและเลขาเป็นแขกรายเดียวเท่านั้น

ในฐานะที่เคยอยู่ป่าอยู่ดอยเป็นปี ผมอยากนอนค้างที่นี่สักเดือน แต่เลขาคนเก่า-เก่ง และแก่ของผม แกไม่ยอม อ้างว่ามีงบเพียงคืนเดียว คงมีเบื้องหลังเกี่ยวกับการไม่ได้ดูละครน้ำเน่าเป็นแน่ เพราะเห็นแกโทรหามะหน่อที่บ้านเพื่อทราบความคืบหน้าของเรื่องราวในเช้าวันรุ่งขึ้นทันที ก็น่าเห็นใจแก เพราะถึงแม้นเราจะได้นอนโรงแรมกลางป่าดีที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง ซึ่งบรรยากาศจัดว่ายอดเยี่ยมจริง ๆ แต่ที่ขาดไปก็คงเป็นโทรทัศน์ เราพักอยู่ในอาคาร เอ 1 ซึ่งจัดไว้สำหรับแขกพิเศษเท่านั้น ห้องพักอยู่ติดกับแม่น้ำ และห่างจากน้ำตกประมาณ 5-60 เมตรเท่านั้น นอนฟังเสียงน้ำตกตลอดคืน เตียงที่นอนทำด้วยไม้ไผ่เป็นปล้อง ๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 8 นิ้ว เครื่องนอนสะอาดเรียบร้อยดีระดับโรงแรม 5 ดาว เราได้นอนในมุ้งแบบพระธุดงค์ คือห้อยมาจากด้านบนซึ่งรวมเป็นกระจุกเดียว เกิดมาไม่เคยนอน เคยนอนแต่มุ้งสี่หู ห้องน้ำก็เป็นเครื่องสุขภัณฑ์ยี่ห้อดัง น้ำไหลแรงได้มาตรฐาน เวลาเข้าไปใช้ เราเห็นป่าได้ถึงสามด้าน รวมทั้งด้านบนอีก 1 ด้าน เห็นดาวเห็นเดือนได้เต็มที่เลย ที่มุมหนึ่งมีร่มอันใหญ่ไว้ให้กางเวลาฝนตก เข้าไปอาบน้ำแล้วได้บรรยากาศจริง ๆ เสียวแต่ว่าเกิดมีเสือมีงูบุกเข้ามาจะทำอย่างไรดี และที่น่ากลัวอีกอย่างก็คือเรื่องยุง เพราะได้ทราบว่าเจ้าของชื่อคุณวิมล กิจบำรุง เพื่อนนักเรียนอัสสัมชัญด้วยกัน เขาเข้ามาบุกเบิกทำรีสอรท์แห่งนี้ เมื่อประมาณปี 2548จนป่วยเป็นไข้มาลาเรียขึ้นสมอง อาการหนักจนถึงขั้นตาบอด แต่ได้ทราบว่าเวลาผ่านไป 4 ปีอาการดีขึ้นบ้างแล้ว

ที่บริเวณ lobby ผมต้องยกมือไห้วเก้าอี้ตัวหนึ่งทันทีที่เห็นและรู้ว่า เป็นเก้าอี้ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ได้ประทับเมื่อเสด็จมาเสวยพระกายาหาร นึกไม่ถึงจริง ๆ ว่าพระองค์ท่านได้มาถึงที่แห่งนี้ ผมภูมิใจแทนคุณวิมล จริง ๆ

ทางโรงแรมจัดอาหารชุดเล็ก ๆ ให้ผมหนึ่งชุด โดยโต๊ะที่นั่งสามารถเห็นน้ำตกได้อย่างเต็มตา ผมได้แอบเอาข้าวเปล่าโยนลงไปในแม่น้ำ โอ๊ย แม่เจ้า ปลาจำนวนหลายสิบตัวค่อย ๆ ว่ายมากินอย่างมีระเบียบไม่ได้เข้ามาแย่งกันกินเหมือนวังปลาอื่น ๆ ที่เคยไป อาหารอร่อยมากครับ รวมทั้งน้ำผลไม้ที่แปลงมาจากผลหมาก และกาแฟ รสเข้มข้นที่ผมต้องซื้อติดมือกลับมา ผมยืนยันว่าใคร ๆ ก็สนใจที่จะไปเที่ยวที่โรงแรมแห่งนี้ แต่จะพักหรือไม่ก็ให้ถามราคาและขอดูห้องก่อนตัดสินใจนะครับ ส่วนชื่อของโรงแรมก็ขออุบเป็นความลับ ให้ไปหาข้อมูลเองก็แล้วกัน

(ตัวอย่างจากหนังสือ)


โชคดีที่เกิดมาจน

บทที่ 9
สยามออกใหม่ ไทยรัฐเจ๊งแล้ว

พ.ศ.. 2514 ร.ต.อ.สุรัตน์ โอสถานุเคาระห์ ไม่รู้จะใช้เงินที่มีมากมายมหาศาล จากการเป็นเจ้าของสภา(สภาเต็กเฮงหยู---ผู้ผลิตลิโพ ทัมใจ และกูรอนซาน) ให้พร่องไปด้วยวิธีการใด จึงชักชวนลูกน้องระดับหัวกะทิของไทยรัฐ มาทำหนังสือพิมพ์ใหม่ชื่อว่า สยาม เป็นการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดของวงการหนังสือพิมพ์ เป็นที่ฮือฮาของวงการหนังสือพิมพ์ในสมัยนั้น

ผมอยู่ที่เชียงใหม่ อายุ 20 กว่าและว่างงานเพราะลาออกจากการเป็นผู้จัดการแผนกของบริษัทฝรั่งที่กรุงเทพ เลยไปวิ่งขายหนังสือพิมพ์ประชดชีวิต และได้ก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าเด็กขายหนังสือให้กับศูนย์หนังสือรามาบุ๊ค ซึ่งเป็นอดีตลูกน้องของ ของคุณชัย จิติเดชารักษ์ เจ้าพ่อตัวจริงของวงการหนังสือไทย ในช่วงนั้น ไทยรัฐกับเดลินิวส์กำลังรบกัน ที่เชียงใหม่ คุณชัย เป็นตัวแทนของเดลินิวส์ ส่วนคุณจิตร บรรณสาร เป็นตัวแทนของไทยรัฐ มีร้านรามาบุ๊คเป็นนกสองหัวอยู่ตรงกลาง และมีแผงหนังสือมากกว่า 300 แห่งเป็นเครือข่าย รามาบุ๊คถูกทาบทามให้เป็นตัวแทนของสยามที่ออกใหม่ แต่คุณวิทูรย์ผู้เป็นเจ้าของกลัวว่าจะถูกทุบหม้อข้าว เลยขอวางตัวเป็นกลางแต่โอนเรื่องการบุกตลาดให้ผมคุยกับคุณวสันต์ ชูสกุลผู้จัดการฝ่ายขายหนังสือพิมพ์สยามซึ่งถูกซื้อตัวมาจากไทยรัฐ เพื่อหวังเป็นทางลัดทำหนังสือพิมพ์สยามให้ติดตลาด ผมและคุณวสันต์คุยกันเรื่องแผนการประชาสัมพันธ์แบบพื้น ๆ โดยให้ผมจัดทีมเด็กขายหนังสือพิมพ์ 30 คนมาเป็นทีมการตลาด คอยวิ่งตะโกน สยามครับ สยามครับ ไปทั่วเมือง กำหนดกันไว้เป็นเวลา 1 เดือน ด้วยค่าจ้าง วันละ 20 บาทต่อคนพร้อม เสื้อสีเหลือสดใส คนละ 2 ตัว และสิทธิซื้อหนังสือพิมพ์สยามไปวิ่งขายเพียงครึ่งราคา ตอนนั้นหนังสือพิมพ์ ราคาเล่มละ บาทเดียวเท่านั้นส่วนผมได้รถมอเตอร์ไซค์ฮอนด้าขนาด 110 CC เป็นรางวัล และเงินสดอีกสองพัน การทำตลาดครั้งนั้น ผมคิดสโลแกนใหม่ ด้วยวลีที่กินใจชาวไทยรัฐทั้งหลาย หากป๋ากำพล แกได้ยิน คงถามหาคุณพ่อผมซึ่งไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นเพื่อนสนิทของป๋ากำพลคนหนึ่ง หรือไม่ก็ลากปืนออกมายิงผมแน่นอน เพราะสโลแกนของผมคือ

สยามออกใหม่ ไทยรัฐเจ๊งแล้ว
สยามออกใหม่ ไทยรัฐเจ๊งแล้ว
ผมพาเด็ก ๆ เดิน-วิ่งไปรอบเมืองเชียงใหม่พร้อมทั้งตะโกนสโลแกนที่ว่าไปตลอดทาง วันแรกไม่มีปัญหาอะไร

แต่พอวันที่สองก็มีการเอาไม้มาไล่ตีกัน พร้อมรุมชกต่อยกันตามตลาดหลายแห่งเป็นของแถมให้กับบรรดาลูกค้าทั้งไทยรัฐและสยาม แต่ก็ไม่มีอะไรรุนแรง ถือว่าพวกเด็ก ๆ เขาทะเลาะกันก็แล้วกัน โดยมีผมนั่งสามล้อคุมไปห่าง ๆ พร้อมปืนไทยประดิษฐ์บรรจุลูกปราย ไว้คอยห้ามทัพ

เรื่องหนังสือพิมพ์สยามนี้ฮือฮาได้เดือนเดียวก็แผ่ว แรก ๆ คึกคักกันดี รถบรรทุกหนังสือพิมพ์ทั้งไทยรัฐและสยามต่างเตรียมซัดกันเต็มที่ ทั้งสองค่ายต้องมีฝ่ายคุ้มกัน ไทยรัฐมีทหาร ส่วนสยามใช้ตำรวจกองปราบ พกอาวุธครบมือ มาคอยคุม ที่มีปัญหาค่อนข้างมาก็คือการขนส่ง เพราะทั้งสองค่ายใช้รถยนต์วิ่งจากรุงเทพถึงเชียงใหม่ เหยียบกันแบบสุด ๆ รถเลยเสียเกือบทุกวัน ทั้งไทยรัฐ สยาม และเดลินิวส์ ทำให้พวกเราคนขายหนังสือพิมพ์ต้องเสียเวลาในการรอ และต้องวิ่งหลายเที่ยว

วันไหนรถของสยามเสียก็เป็นอันว่าเหลือบานตะไท เพราะเด็กที่วิ่งขายเขาไม่รอ ส่วนวันไหนรถไทยรัฐเสียเขายังรอเพราะคนอ่านยังยึดติดกับไทยรัฐมากกว่าสยามซึ่งถูกมองว่าเป็นพวกกบฏ และคนเริ่มเมินสยาม จนในที่สุด สยามก็ตกไปอยู่อันดับสามต่อจาก ไทยรัฐและเดลินิวส์ หลังจากดำเนินการได้ประมาณ สามเดือนคนเก่าของไทยรัฐที่ไปทำงานกับสยามก็เริ่มทยอยเดินกลับเข้าสู่ไทยรัฐตามเดิม ส่วนผมและลูกน้องก็ต้องหันไปขายไทยรัฐและเดลินิวส์เป็นหลัก

ความจริงเรื่องไทยรัฐรบกับสยามนั้น น่าจะรุนแรงมากกว่านี้ แต่เพราะคุณกำพล สั่งบรรดาลูกน้องไว้ว่า บุญคุณต้องทดแทน ไม่เคืองแค้นเรื่องอธรรม และเป็นที่รู้กันในวงการว่าครั้งหนึ่งคุณสวัสดิ์ พ่อของคุณสุรัตน์ เจ้าของหนังสือพิมพ์สยามเคยช่วยเหลือไทยรัฐในยามคับขัน จนเกือบต้องขายกิจการ ทำให้ป๋ากำพล ท่านไม่ได้ลงไม้ลงมืออะไรรุนแรง เพียงแต่ยัน ๆ ไว้เท่านั้นเอง แต่ก็ทำให้ลูกน้องเก่าที่ทรยศหน้าแตกกันไปตาม ๆ กันพร้อมกับรำพึงรำพันว่า "กูไม่น่าเลย"


โชคดีที่เกิดมาจน

บทที่ 10
เด็กขายหนังสือพิมพ์บรรดาศักดิ์

เมื่อปี 2513-2516 เมืองเชียงใหม่ยังไม่เจริญมากมาย รถเมล์ที่วิ่งจากกรุงเทพไปเชียงใหม่ มีแค่ วันละ 4 คันเป็นของถาวรฟารม์ และทันจิต บริษัทละ 2 คันเท่านั้น ที่เชียงใหม่มีสถานีขนส่งอยู่บริเวณอนุสาวรีย์ช้างเผือก ผมไปยึดบริเวณสถานีขนส่งดังกล่าวเป็นที่ทำมาหากิน ด้วยการขายหนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์ที่ผมขายนอกจากเป็นหนังสือพิมพ์รายวันฉบับล่าสุดแล้ว ยังมีหนังสือพิมพ์เก่าออกมาแล้วเมื่อหลายเดือนเอามาขายด้วย และดูเหมือนจะขายดีกว่าฉบับรายวันที่ออกใหม่ ของใหม่ราคาฉบับละบาท ฉบับเก่า ๆ ผมขาย 2 บาทเฉยเลย และขายดีด้วย ไม่มีลูกค้าคนใดบ่นว่าแพง คนที่ซื้อก็ซื้อด้วยความเต็มใจ จะไม่เต็มใจได้อย่างไรครับ ของผมมีหนังสือโป้แถมครับ เฉพาะหนังสือโป้ก็เล่มละ 5 บาทแล้ว มองแค่นิดเดียวก็ฮือฮาแบบที่เขาเรียกว่า ปลุกใจเสือป่า ผมทำมาค้าขายด้วยวิธีดังกล่าวนานหลายเดือน และโอนกิจการให้ลูกน้องคนหนึ่งทำต่อ เพื่อให้เขาหารายได้ในการเรียนจนจบด๊อกเตอร์จากเมืองนอกมาแล้ว ทุกวันนี้การขายหนังสือพิมพ์แถมหนังสือโป้ก็ยังมีอยู่ตามสถานีขนส่งหลายแห่ง การที่ผมเลิกขายหนังสือพิมพ์ก็เพราะบังเอิญไปขายให้กับเพื่อนนักเรียนอัสสัมชัญด้วยกัน และมันเอาไปเล่าให้เพื่อนฟังจนเข้าหูไปถึงอาจารย์ (บาเดอร์)ที่โรงเรียน และมีเพื่อนฝูงไปตามหาผมถึงเชียงใหม่ และบอกว่าบาร์เดอร์เบอนารด์ (ผู้ต่อตั้ง ABAC)ให้ผมเอา certificate ไปคืนด่วน

ผมจึงต้องรีบบินเข้ากรุงเทพ เพื่อไปกราบคาราวะท่านอาจารย์ ท่านเห็นผมแล้วท่านรีบควักผ้าเช็ดหน้ามาเช็ดน้ำตาทันที ไม่รู้ว่าท่านสงสารผมหรือว่าท่านเป็นโรคน้ำตาไหล ท่านบอกว่า ทำไมต้องไปวิ่งขายหนังสือพิมพ์ให้เสียชื่อเสียงโรงเรียนด้วย เพราะในกรุงเทพมีงานรออยู่มากมาย ในสมัยนั้น โรงเรียนอัสสัมชัญพานิช ถือว่าเป็นโรงเรียนอาชีวะชั้นนำ นักเรียนทุกคนที่เรียนจบมีงานรอ เป็นสองสามเท่าของนักเรียน (ส่วนใหญ่ หลอกให้ไปขายประกันและสารานุกรม) หรืออย่างแย่ ๆ ก็น่าจะมาช่วยท่านสอนหนังสือ เพราะผลการเรียนของผมนั้นใช้ได้ทีเดียว ผมจึงเรียนท่านไปว่าความจริงแล้วศิษย์โปรดของท่านคนนี้ไม่ได้ตกระกำลำบากถึงขั้นต้องไปวิ่งขายหนังสือพิมพ์หนังสือถึงเชียงใหม่หรอก แท้ที่จริงแล้ว กำลังปฏิบัติภารกิจพิเศษเพื่อชาติ โดยเป็นฝ่ายข่าวกรองขององค์การลับแห่งหนึ่ง และรับผิดชอบดูแลในเขตเชียงใหม่ โดยผมได้ขอร้องท่านว่า อย่าได้แพร่พรายเรื่องนี้ให้ใครรู้เป็นอันขาด เพราะจะทำให้ผมว่างงานได้ ส่วนเรื่องชื่อเสียของโรงเรียนนั้น ไม่มีใครรู้หรอกเพราะผมไม่ใส่เครื่องแบบ แต่ที่ไหนได้ รู้กันทั้งสถาบันเลยทีเดียวว่า ผมไม่ได้โกรธท่านเพราะท่านคงต้องต้องพยายามปกป้องสถาบันเมื่อมีใครมาบอกว่าลูกศิษย์ท่านตกระกำถึงขนาดต้องไปวิ่งขายหนังสือพิมพ์ หลังจากนั้นผมกลายเป็นคนสำคัญของกลุ่มเพื่อน ๆ ที่พบกันเป็นประจำทุกเดือน โดยผมเริ่มกลับเข้ามาในกลุ่มเพื่อน ๆ อีกครั้ง พวกเขาจะถามซักไซ้เช็คข่าวลือต่าง ๆ จากผมและขอให้ผมเล่าก็ถึงภารกิจลับพิเศษต่าง ๆ ผมไม่ขัดใจเพื่อนเล่าแบบเล่านิทานไปตามน้ำ ส่วนเรื่องข้อมูลนั้นมีเหลือเฟือเพราะผมอ่านหนังสือพิมพ์วันละเกือบ 10 ฉบับ รวมทั้งหนังสือบู้ ๆ ของ เศก ดุสิต และสยุมภู ทศพล ทำให้ผมกลายเป็นนักเล่าชั้นดีคนหนึ่ง โดยเอาตัวเองแทรกเข้าไปในบางฉากที่พอจะเข้าไปเป็นตัวประกอบ

ถึงผมจะไปตกระกำลำบากที่เชียงใหม่ถึงขั้นไปวิ่งขายหนังสือพิมพ์ปนหนังสือโป้อยู่นานหลายเดือน แต่ก็ต้องเข้ากรุงเทพ เพื่อเยี่ยมคุณแม่และเพื่อนๆเป็นประจำเดือนละครั้งสองครั้ง วันใดที่ผมจะเข้ากรุงเทพผมจะขายหนังสือพิมพ์ถึงตอนเที่ยง แล้วก็ขึ้นเครื่องบินมาทำธุระช่วงบ่ายถึงค่ำ แล้วจะอาศัยเครื่องบินเที่ยวเช้าในวันรุ่งขึ้นกลับไปเชียงใหม่เพื่อไปวิ่งขายหนังสือพิมพ์ต่อ ไม่ยอมให้ขาดสักวัน เพราะไม่อยากถูกขาประจำด่าและพานจะไม่เป็นสมาชิกหนังสือพิมพ์รายวันของผมด้วย การมาค้างคืนที่กรุงเทพนั้น ผมไม่ไปรบกวนญาติหรือเพื่อนฝูง แต่ก็ไม่มีเงินที่จะเสียค่าโรงแรมคืนละเกือบร้อยบาท

ปัญหานี้ทำให้ผมมีที่นอนที่พิเศษจริง ๆ ที่นอนของผมกว้างใหญ่ วิวดี แอร์ฟรี อาหารฟรี เจ้าหน้าทีรักษาความปลอดภัยฟรี รวมทั้งห้องน้ำนั่งชักโครกอย่างดีด้วย เรื่องห้องน้ำนั่งชักโครกนี้สมัยก่อนคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้จัก ที่นอนของผมก็คือสนามบินดอนเมืองครับ ในสมัยนั้น บริเวณโซนผู้โดยสารขาออก จะมีนักเดินทางไปรอกันค่อนข้างมาก ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากผู้เดินทางแล้ว ยังมีญาติ ๆ ที่ไปส่งเสียดูใจกันมากมาย ผู้โดยสารคนเดียว อาจมีคนไปส่งถึง 100 เป็นของธรรมดา ผมจึงอาศัยสนามบินดอนเมืองเป็นที่หลับนอนทุกครั้งที่เข้ากรุงเทพ แรก ๆ ก็ถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เอาเท้าเขี่ยไล่ให้ไปนอนที่อื่น แต่ผมก็แก้ปัญหาด้วยการหาหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ ที่ชื่อบางกอกโพส และบางกอกเวิลล์ มาปิดหน้าเวลานอน เพื่อให้พวก ร.ป.ภ เขาเกรงใจว่าเป็นฝรั่ง และจะหลับสบายขึ้นถ้าได้เอาสำลี หรือกระดาษชำระอุดเข้าไปในรูหูทั้งสองข้าง แค่นี้เองก็ไม่ถูกรบกวนจากเจ้าหน้ารักษาความปลอดภัย และเสียงดัง ส่วนเรื่องที่มีอาหารกินฟรีนั้น ก็เป็นเรื่องง่าย เพราะเวลาที่ผมหิว ผมก็เข้าไปที่โรงอาหาร ซึ่งเขาเรียกกันว่า แคนทีน แล้วก็เข้าไปนั่งอ่านหนังสือใก้ล ๆ โต๊ะที่มีคนนั่งเยอะ ๆ พอนั่งได้สักพัก ก็จะมีเสียงเรียกให้ผู้โดยสายไปขึ้นเครื่อง เท่านั้นเอง ก็จะมีคนลุกเดินออกไปด้วยความรีบร้อน

ผมซึ่งรอจังหวะอยู่แล้ว ก็รีบจัดการยกอาหารที่พอมีเหลืออยู่ ย้ายไปวางที่โต๊ะอื่น แล้ววางมาดการกินอย่างดีแบบที่เรียกว่าลาภปาก สำหรับมื้อนั้น และมื้อหน้าด้วย ใครจะจำไปใช้ก็ตามสบายครับ แต่สำหรับผมภาพเหล่านี้จะผุดขึ้นมาทุกครั้งที่ไปนั่งกินตามโรงอาหาร ผมจะนึกเสมอว่า ของที่เรากินเหลืออาจมีคนรอ ดังนั้นจะไม่มีการเอาน้ำเทใส่ หรือเอาไม้จิ้มฟันใส่ลงไปเป็นอันขาด เพราะนึกถึงตัวเอง ถ้ากำลังกินอยู่ด้วยความหิวและกัดโดนไม้จิ้มฟัน ก็อาจอ๊วกแตกมากลางวงก็ได้

โชคดีที่เกิดมาจน

บทที่ 15

องค์พิฆเนศ

ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่เคยเชื่อเรื่องเทพและอภินิหารของเจ้าพ่อเจ้าแม่ทั้งหลาย นอกจากไม่เชื่อ ยังบังอาจลองดีไปรับจ้างยกเทพองค์หนึ่งซึ่งคนนับร้อยนับพันกราบไหว้ไปโยนทิ้ง เรื่องมันเกิดสมัยผมวิ่งขายหนังสือพิมพ์อยู่ที่เชียงใหม่ ประมาณ พ.ศ.2515 ครั้งนั้นมีผู้รับเหมาก่อสร้างชื่อลุงเที่ยงจ้างผม 20 บาทให้ยกองค์พิฆเนศในสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง ไปโยนทิ้งเนื่องจากโมโหที่ไม่ช่วยเหลือในการประมูล หลังจากถวายสินบนด้วยพวงมาลัยเจ็ดสียาวเจ็ดศอก แต่ไม่นานหลังจากที่ผมเอาเทพองค์นั้นไปจัดการกระจายสังขารจนหาชิ้นดีไม่ได้ ผู้รับเหมาคนที่ว่าก็ได้รับอุบัติเหตุขับรถไปชนต้นยางขนาดใหญ่ บนถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน และถูกอัดก๊อบปี้ ถึงขนาดที่เรียกว่าท้องแตกตาย และเป็นการบังเอิญเหลือเกินที่ใกล้ ๆ กับที่เกิดเหตุ ที่ผมตามไปดูพบว่ามีศาลองค์พิฆเนศรูปคล้ายกับองค์ที่ผมรับจ้างไปโยนทิ้ง ผมขนหัวลุก และใจไม่ดีจนต้องให้ลุงหัวล้านหมอผีชื่อดังของเชียงใหม่อยู่ใกล้ ๆ สี่แยกกลางเวียงทำพิธีขอขมา ทั้ง ๆ ที่ความจริงก็ไม่เชื่ออะไร นึกว่าเป็นความบังเอิญมากกว่า

เรื่ององค์พิฆเนศนี้เข้ามาเกี่ยวข้องกับผมอีกครั้งเมื่อผมเริ่มสร้างเมืองหนังสือที่อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ บริเวณดังกล่าว มีช้างตัวหนึ่งชื่อกองเงิน เป็นช้างท้องถิ่นตัวสุดท้ายของนครสวรรค์ เป็นลูกเจ้าปทุมแก้ว ช้างของหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ กองเงินมีอาชื่อพลายสมบูรณ์ พลายสมบูรณ์ตอนหลังกลายเป็นช้างขี้เมาอยู่แถว ๆ อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ เจ้ากองเงินอายุได้ 10 ปีตอนที่ผมรู้จักเป็นช้างสาวนิสัยดี รู้จักกันดีของชาวพยุหะคีรี เจ้ากองเงินนี้เชื่องมาก ทำหน้าที่กองหน้าเวลามีขบวนแห่ของชาวบ้าน ผมพาลูกสองคนไปเล่นด้วยเกือบทุกอาทิตย์ เพราะเจ้ากองเงินอาศัยที่ดินของเมืองหนังสือเป็นที่พักผ่อนเดินเล่น และเมืองหนังสือเกือบได้ช้างดังกล่าวมาครอบครอง หากไม่มีปัญหาการเจรจาในเงื่อนไขที่เราจะต้องจ่ายเงินเกือบสองแสนเป็นค่าช้าง แล้ว ยังต้องจ้างคนเลี้ยงช้างที่ชื่อคุณช้าง(ปัจจุบันอยู่ในหมู่บ้าน "หลีกภัย ชินวัตร" ในบริเวณเมืองหนังสือ) ไว้ดูแลเจ้ากองเงินตลอดไปจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งล้มหายตายจากไป(ไม่ร่วมถึงผมนะ) เพราะดูจะเป็นภาระมากเกินควร จึงเลิกความคิดที่จะเป็นเจ้าของเจ้ากองเงิน แต่ผมและลูก ๆ ก็ยังไปเล่นกับเจ้ากองเงินอยู่บ่อย ๆ จนวันหนึ่งเล่นกันอีท่าไหนไม่รู้เจ้ากองเงินเกิดนึกสนุก เอางวงฟาดที่เอวผมกระเดินไปสองวาทำเอางงไปเลย แต่พวกลูก ๆ กลับหัวเราะอย่างสนุก ส่วนผมนั้นได้สติขึ้นมานึกได้ว่าถ้าเจ้ากองเงินไม่เพียงแต่เอางวงฟาดผม แต่ยังมีความมันในอารมณ์กระทืบซ้ำ อะไรจะเกิดขึ้น ผมคงได้เป็นหัวข่าวหนังสือพิมพ์เป็นแน่ นึกได้เช่นนั้น จึงบอกลา ไม่ไปเล่นกับเจ้ากองเงินอีก

แต่แล้วคืนนั้นเอง ผมก็ฝันเห็นเจ้ากองเงินมายืนร้องไห้ต่อหน้าผม ขอให้ผมช่วยตามงาที่หักของมัน ผมถามมันว่าจะไปตามที่ไหน มันก็บอกว่าในตลาดพยุหะคีรีมีมากมาย ให้ไปซื้อมาให้ ทำเหมือนกับลูก ๆ ผมที่มักจะอ้อนขอให้ไปซื้อของเล่นในตลาดอย่างนั้นแหละ ผมเห็นเป็นเรื่องไร้สาระจึงหลับต่อไป วันรุ่งขึ้นผมเข้าไปในตลาดพยุหะคีรี เพื่อซื้อทองให้ลูกคนละ 5 บาท ผมชอบทองร้านนี้มาก และต้องไปซื้อเป็นประจำทุกครั้งที่ไปพยุหะคีรี (เรื่องซื้อทองให้ลูกทุกอาทิตย์คนละ 5 บาทนี้เคยเป็นเรื่องเพราะมีจดหมายร้องเรียนไปถึงบริษัท จนทำให้ถูกตรวจสอบ อย่างลับ ๆ เพราะในจดหมายร้องเรียนเขาระบุด้วยว่าไปซื้อร้านที่อยู่หน้าธนาคาร กรุงไทย แต่ในที่สุดกลายเป็นว่าทองที่ว่าคือทองม้วน ที่ขายอยู่หน้าบ้านยายมี มหาเศรษฐีของพยุหะคีรี)

ตลาดพยุหะคีรีช่วงก่อนปี 2540 เป็นศูนย์พุทธพาณิชย์ของประเทศไทยมีร้านขายพระแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเหรียญหรือพระหล่อรวมทั้งเครื่องรางเครื่องขลัง แต่ละวันจะเห็นเจ้ากูเดินกันจีวรปลิวเข้าร้านนั้นออกร้านนี้พระพวกนี้ชาวบ้านร้านค้าทุกคน ยิ้มรับ ไม่เหมือนกับในตลาดอื่น ๆ ที่บรรดาชาวบ้านร้านค้ามักจะใช้คำว่า "นิมนต์ข้างหน้าเถอะ" เพราะที่นี่พระขนเงินมาให้ร้านค้าต่าง ๆ ปีละหลายสิบล้านบาท โดยมีร้านส่วนหนึ่งขายงาช้างทั้งงาเต็มรูปแบบและงาท่อนแกะสลัก พวกขายงาช้างนี้ดูจะมีฐานะดีกว่าร้านค้าประเภทอื่น

ร้านขายพวกงาช้างมีประมาณ 15 ร้าน แปลกจริง ๆ ที่วันนั้นเป็นวันแรกที่ผมเห็นทุกร้านมีถุงพลาสติกใสใส่ปลายงาช้างวางอยู่ในชั้นล่างสุดของตู้ ถามเจ้าของร้านดูเขาบอกว่าเป็นส่วนเหลือของงาที่มีการแกะสลักแล้ว จึงเก็บไว้เฉย ๆ ผมเห็นแล้วก็มีความอยากได้เป็นกำลัง ทั้ง ๆ ที่ผมไม่เคยสนใจของพวกนี้เลย รวมไปถึงพวกเพชรพลอยเครื่องประดับเครื่องรางของขลังต่าง ๆ แต่วันนั้นผมสั่งให้คุณสมพงษ์ แสนฟอง ผู้จัดกาส่วนตัวของผมที่พยุหะคีรีให้ไปขอหรือขอซื้อปลายงาเหล่านั้นจากบรรดาเจ้าของร้านทั้งหลาย โดยไม่ได้บอกว่าผมจะเอาทำอะไรและเป็นเรื่องแปลกที่ปรากฏว่าทุกคนยอมยกให้แบบง่าย ๆ รวมกันแล้วได้ 3243 ชิ้น นั้น ผมใช้หีบไม้เก่า ๆ สองใบมาบรรจุ เท่าที่สอบถามคุณสมพงษ์ ดู เขาบอกว่าเพียงแค่ไปบอกกับบรรดาร้านค้าว่า เมืองหนังสือ จะเอาปลายงานเหล่านั้นไปเก็บไว้ในเจดีย์ที่จะสร้าง พวกร้านค้าเขาก็ยินดียกให้ฟรี ๆ บางรายก็ขอเพียงทุนที่ซื้อมา หลังจากที่ได้ปลายงาช้างทั้งหมดมาครอบครอง ผมก็นึกงงอยู่เหมือนกันว่าเอามาทำไม ไปเห็นเจ้าช้างกองเงินก็ไม่เห็นว่างาเขาจะหักตามที่ฝันเห็น และความจริงเจ้ากองเงินก็ไม่ต้องมีงา เพราะเป็นช้างเพศเมีย แต่ไหน ๆ ก็ได้มาแล้วก็จะเก็บไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่าประเทศไทยเคยมีช้างจำนวนมากมาย และช่วงหนึ่งประมาณ ใกล้ ๆ ปี พ.ศ.2500 ประเทศไทยคงมีช้างมากกว่าจำนวนรถยนต์เป็นแน่ แต่วันนี้ตัวเลขช้างและรถยนต์ คงห่างไกลกันอย่างริบลับ งาช้างเหล่านี้จึงเป็นหลักฐานยืนยันว่าครั้งหนึ่งเมืองไทยเราเคยมีช้างมากกว่าจำนวนรถ

ต่อมาไม่นานผมฝันเห็นลูงแก่ ๆนุ่งจงกระเบนแบบที่เห็นในรูปโปสเตอร์ กอ ไก่ อธิบายคำว่า ฒ ผู้เฒ่า ถือไม้เท้าชี้มาที่ผม แล้วถามผมว่า องค์พิฆเนศที่ให้สร้างเสร็จแล้วหรือยัง ผมสะดุ้งตื่น พยายามคิดดูว่าไปรับปากที่จะสร้างองค์พิฆเนศที่ไหนหรือเปล่า ทำให้ผมคิดถึงองค์พิฆเนศที่ผมเอาไปทุ่มทิ้งและภาพของลูกช้างงาหักที่มาเข้าฝันให้ตามหางาที่หัก จนทำให้ผมได้ปลายงามาสองพันกว่าอัน เลยคิดเอาเองว่า เรื่องทั้งสองน่าเกี่ยวพันกัน จึงเกิดความคิดว่าควรจะสร้างองค์พิฆเนศไว้บนภูเขาอยู่หลังเมืองหนังสือ ถ้าผมมีความสามารถ

ผมยังไม่ได้ทำอะไรก็เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ทำให้การก่อสร้างเมืองหนังสือต้องหยุดลงชั่วคราว เพราะไม่สามารถกู้เงินจากธนาคารมาดำเนินการก่อสร้างต่อ ซ้ำธนาคารยังเรียกเงินที่กู้คืนอีก ผมรู้ดีว่าการที่ไม่สามารถทำอะไรต่อเพราะมีปัญหาด้านการเงิน และดีไม่ดีอาจถูกธนาคารบังคับยึด ที่ดินและอาคารของเมืองหนังสือ ผมก็ยอมรับสภาพดังกล่าว แต่ภรรยาที่เคารพกลับมองในแง่ที่ว่า ปัญหาเกิดจากผมไม่ยอมเคารพเจ้าที่เจ้าทางเพราะช่วงที่ดำเนินการก่อสร้างเมืองหนังสือบนที่ดิน 60 ไร่ทั้งสองฝั่งของถนนสายเอเชียที่นครสวรรค์นั้น ผมเป็นคนสั่งและจัดการให้รื้อถอนบรรดาศาลเจ้าที่เจ้าทางทั้งหลายนับสิบอัน เอาไปกองรวมกันแล้วเผา ผมไม่ฟังเสียงใครทั้งนั้น เพียงบอกให้เจ้าของเดิมเขาถอนออกไปเองตอนที่มีการซื้อขายที่ดินกัน มีศาลพระภูมิอันหนึ่งที่รถแท็กเตอร์พยายามจะดัน แต่ต้องมีอันเป็นไปเพราะเครื่องดับทุกครั้งที่พยายามจะดันแต่ผมก็จัดการเอาเชือกผูกตัวศาลเข้ากับรถของผมแล้วลากไปทิ้ง นอกจากนี้ยังมีเจ้าของเรือเอี๊ยมจุ๊นที่ขายให้กับเมืองหนังสือก็มีเรื่องมีราวเหมือนกัน เพราะ หลังจากขายได้ปีกว่าก็มาขอให้ผมเอาเหล้ายาปลาปิ้งไปทำพิธีที่เรือที่ซื้อจากเขาทุกวันพระ เพราะเขาบอกว่าแม่ย่านางไปเข้าฝันว่านับจากเขาขายให้กับเมืองหนังสือ แม่ย่านางกลายเป็นผีไร้ญาติ ไม่มีคนมาทำบุญให้เลย ผมก็บอกให้เขาไปทำเองเถอะ เพราะไม่มีนโยบาย เรามีที่ดินเป็นร้อยแปลง และทุกแปลงก็เคยมีศาลเจ้าที่ทั้งนั้น ทำไม่ไหว นับแต่นั้นมาก็มีคนไปไหวเรือเอาผ้าสวย ๆ ไปผูก มีการไปขูดหาเลขที่เรือ ซึ่งกลัวอยู่เหมือนกันว่า สักวันคงจะมีคนไปเผาเรือ หากได้เลขแล้วไปแทงไม่ถูก เหมือนที่ผมไปรับจ้างยกองค์พิฆเนศไปโยนทิ้ง ให้กลายเป็นเรื่องเวรเรื่องกรรมไปก็แล้วกัน

แต่เมื่อภรรยาที่เคารพเขาอยากให้สร้างศาลพิฆเนศ ผมก็วางแผนทันที มีการกำหนดพื้นที่ และรูปแบบ ที่จะก่อสร้าง โดยไปได้รูปหล่อโลหะองค์พิฆเนศขนาดฐานกว้าง 6 นิ้วจากจังหวัดสุรินทร์ โดยบังเอิญ เพราะไปต่อราคาเขาเล่น ๆในราคาที่เขาไม่น่าจะยอมขาย แต่เขายอมก็เลยจำเป็นต้องจ่ายเงินซื้อมา

ครั้งหนึ่งผมเห็นรูปองค์พิฆเนศของอาจารย์เฉลิมชัย วางโชว์ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ เป็นภาพที่วาดด้วยมือ แต่ดูไม่ค่อยสวยเท่าใด เพราะเหมือนฉากยี่เก แต่ก็ออกปากขอจากอาจารย์เฉลิมชัย บอกว่าจะเอาไปบูชา ท่านเกิดอารมณ์ดีเลยให้ผมมาง่าย ๆ แถมยังลงลายมือว่า ขอมอบให้เมืองหนังสือ ไว้ด้วย อาจารย์เฉลิมชัยนี้ แกเป็นคนสนุก ผมเคยขอซื้อผ้าข้าวม้า และหมวกกุยเฮงที่แกใส่เวลาทำงานที่วัดร่องขุ่น ผมเสนอซื้อที่ สามแสน บอกว่าจะร่วมทำบุญ แกก็บอกว่า เท่าไรก็ไม่ขาย และถ้าอยากจะทำบุญก็จะไม่รับเกินหนึ่งหมื่นบาท แต่ว่าวันนั้นผมซื้อหนังสือของแกมา 10 เล่ม ให้เงินไป สองหมื่นห้า รับเฉยเลย รูปองค์พิฆเนศที่ได้จากอาจารย์เฉลิมชัยนี้ผมแขวนไว้ที่บ้าน ใครไปใครมาก็ยกมือไหว้จนพูดกับลูก ๆ ว่าพ่ออยากเป็นรูปพระพิฆเนศจัง จะได้มีคนไหวบ้าง ทำเอาลูก ๆ รู้สึกตัว ยกมือไหว้พ่อไหว้แม่ เวลาจะไปและกลับจากโรงเรียน

ผมวางแผนจะสร้างองค์พิฆเนศจริง ๆ ใครไม่เชื่อก็ดูได้จากรูปแผนที่ทางอากาศ ของ googleearth ผมได้ทำเป็นลานสี่เหลี่ยมคางหมู ตรงด้านหน้าของเมืองหนังสือ แต่ตัวศาลก็ไม่ได้ลงมือสักที นอกจากเล่าสู่กันฟังในบรรดาญาติและเพื่อนฝูง เพราะผมกลัวว่า ถ้าสร้างศาลพิฆเนศแล้ว โครงการเมืองหนังสือเกิดมีปัญหาถึงขั้นโดนธนาคารยึดก็จะเสียหายไปถึงองค์พิฆเนศด้วย ผมจึงตั้งใจว่า จะสร้างเมื่อได้แก้ปัญหากับสถาบันการเงินที่เป็นผู้รับจำนองที่ดินที่ผมจะสร้างองค์พระแล้วเท่านั้น และแทบไม่น่าเชื่อ เพียงแค่อาทิตย์เดียวหลังจากที่ผมมีความคิดดังกล่าว ผมก็สามารถไถ่ถอนที่ดินแปลงดังกล่าว เพราะมีนายทุนจากสุพรรณบุรี มาขอซื้อที่ดินแปลงหนึ่งทำให้มีเงินพอสำหรับการไถ่ถอนจากธนาคาร นี่คือที่มาของ พิฆเนศ : เทพเจ้าแห่งความสำเร็จของเมืองหนังสือ ซึ่งจะสำเร็จแค่ไหนก็จะดูต่อไป แต่ตอนนี้สบายใจแล้วครับ ผมได้ไถ่ถอนที่ดินแปลงสำคัญ มาได้แล้ว กำลังรอที่จะหาเงินมาสร้างต่อไป

ส่วนองค์พิคเนศ ที่ผมชอบมากเป็นพิเศษเป็นองค์ที่ทำจากไม้ ได้มาโดยการขอจากคนที่เขาหิ้วผ่านขณะที่ผมนั่งอ่านหนังสือที่ตลาดริมเมย อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เห็นแล้วก็เอ่ยปากขอ เขาก็ให้มาง่าย ๆ สงสัยเขาคงซื้อมาแล้วกลัวเมียด่า พอดีผมขอก็เลยยกให้ง่าย ๆ เสียอย่างนั้นแหละ ผมได้มาแล้ว ก็มาวางไว้ในบ้าน และดูเหมือนจะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิของครอบครัวไป และดูเหมือนจะดูจะขลังขึ้นอีกเป็นอันมาก เมื่อผมเอาน้ำมันพืช มารดทั้งองค์และผมจะทำการรดน้ำมันด้วยตนเองทุกวันพระ กลายเป็นว่าผมเป็นคนศรัทธาองค์พิฆเนศ นับแต่นั้นมา

ผมกะนำงาช้างและองค์พิฆเนศมาวางไว้คู่กัน เมื่อสร้างศาลเสร็จ ตอนนี้จัดการเก็บไว้อย่างดีในห้องมั่นคง และยกเอาทั้งงาช้างและองค์พิฆเนศออกไปให้บรรดาพนักงานและลูกน้องทั้งหลาย ได้เคารพบูชาตามสาขาต่าง ๆ แล้วแต่โอกาสอำนวย โดยสอนบรรดาพนักงานทั้งหลายว่า ให้ ไห้วและอธิฐานอะไรก็ได้ แต่มีข้อห้ามอยู่ 3 อย่างห้ามขอหวย ห้ามกินเหล้า และผิดลูกผิดเมีย ส่วนของถวายนั้นก็ไม่ต้องมีอะไร ซื้อหนังสือองค์พิฆเนศไปอ่าน และเอานมสด พาสเจอร์ไรท์ มาถวายก็พอแล้ว โดยนมสดที่มีคนถวาย ผมก็เอาไปให้คนป่วยและเด็ก ๆ ตามโรงพยาบาล และโรงเรียนในบ้านนอก เพราะเห็นว่าการถวายดอกไม้ ผลไม้ ขนมขวาน และกำมะยาน เป็นของที่ไม่เหมาะกับยุคสมัย เพราะประโยชน์ เกือบทั้งหมด ไปตกอยู่กับพ่อค้าเท่านั้น สู้เอาไปทำบุญให้คนที่ทุกข์ยากไม่ได้

**ปลายงาช้างทั้ง 3243 ชิ้นน้ำหนักประมาณ 250 กิโล ถูกเก็บไว้ที่เมืองหนังสือ นานประมาณ 10 ปี จนถึงปลายปี 2550 ได้เกิดความอัปยศขึ้นในวงการหนังสีอ เมื่อตำรวจบุกจับหนังสือแปลโรมานซ์ ในงานมหากรรมหนังสือแห่งชาติ ในวันที่ 18 ตุลาคม 2550 โดยให้เหตุผลว่าเป็นหนังสือลามก อนาจาร ผิดกฎหมาย ซึ่งคนของเมืองหนังสือได้ตกเป็นผู้ต้องหาไปด้วย ทั้ง ๆ ที่ได้ยืนยันแหล่งที่มา และอ้างว่าหนังสีอดังกล่าวมีการขายมานานกว่า 30 ปีแล้ว โดยศาลได้ตัดสินจำคุก 30 วันโดยไม่มีการรอลงอาญา เรื่องนี้เป็นความเจ็บปวดของผู้บริหารอย่างที่สุด เหมือนกับส่งลูกน้องไปตายอย่างนั้นแหละ ความเลวร้ายครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะตำรวจ ได้แนะนำให้ผู้ต้องหาสารภาพ โดยอ้างว่าต้องการปรามสำนักพิมพ์ทั้งหลาย และโทษก็ไม่หนักอะไร ปรับเพียงสามพันบาท ซึ่งบริษัทจะเป็นผู้จ่ายให้ เมื่อเรื่องไปถึงศาล จึงมีการตัดสินตามที่ตำรวจสอบสวนเอาความดีความชอบใส่ตัว เอาเถอะเวรกรรมขอให้มันตกแต่ตำรวจผู้ดำเนินการก็แล้วกัน แต่เมืองหนังสือเองก็เกรงว่า การมีปลายงาช้าง ไว้เพื่อเอาไปเป็นเครื่องถวายองค์พิฆเนศที่จะสร้าง อาจมีปัญหาได้ หากตำรวจบุกไปตรวจค้นหนังสือ แล้วไปเจอปลายงาช้างจำนวนมากมายขนาดนั้น จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ จึงได้รีบจัดการเคลื่อนย้ายปลายงาช้างทั้งหมด ไปขาย ให้หมดเรื่องหมดราว และเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่งาช้างทั้งหมดขายได้เงินถึง สองล้านกว่าบาท ซึ่งถือว่าเป็นความเมตตาขององค์พิฆเนศอีกครั้งหนึ่ง เพราะช่วงนั้นกำลังขาดเงินหมุนเวียนอยู่พอดี


โชคดีที่เกิดมาจน

บทที่ 16
อยู่รอดเพราะบัตรเครดิต

ช่วงที่วิกฤติที่สุด คงจะเป็นช่วง พ.ศ.2546 เพราะเงินทุนของเมืองหนังสือแห้งขอดเนื่องจากต้องระดมเงินไปชำระหนี้ให้กับธนาคารตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่มีอยู่กับธนาคารหลายแห่ง

การแบกเงินไปชำระหนี้ให้กับธนาคารตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้นี้ไม่ใช่เป็นเรื่องเสียหายอะไร เราเป็นหนี้ก็ต้องใช้ตามที่ธนาคารเขาเมตตากำหนดเงื่อนไขให้ และที่สำคัญผมมีสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบ ชำระแล้วก็ไถ่ถอนหลักประกันออกมาเป็นของเราเอง จนทำให้มีโฉนดสูงเป็นศอก (ตอนจับโฉนดตั้งขึ้น) เมื่อเป็นอย่างนี้จะไปหนักใจทำไม แต่พนักงานที่ร่วมทำงานด้วยหลายคน แอบรู้ข้อมูลจากฝ่ายการเงินถึงฐานะดังกล่าว เลยลาออกไปหางานใหม่ ที่แย่ก็คือออกไปขี่แมงกาไซค์ เป็นอาชีพยอดฮิต แต่ก็ต้องเดือดร้อนให้ผมไปช่วยงานศพหลังจากมาคุยโวว่าได้เงินเป็นพันบาทในแต่ละวัน บางคนก็ลาออกไปขายแอมเวย์เพื่อหวังจะได้ใช้รถยนต์ก็มี ซึ่งผมก็ไม่ว่าอะไรพวกเขาคงคิดถึงความมั่นคงของชีวิตมากกว่าที่จะอยู่กับผมนั่นเอง

ถ้าไม่ไหวจริง ๆ ก็กลับมาแบกหนังสืออย่างเดิมก็แล้วกัน

ส่วนตัวผมนั้นยังใช้ชีวิตปกติเพราะได้เตรียมตัวรับกับภาวะดังกล่างมานานพอสมควร ความจริงไม่ใช่ว่าจะขาดเงินอะไรมากมาย เพราะงานขายหนังสือเป็นงานค้าปลีก เปิดร้านเพียงวันเดียว ก็มีเงินเข้ามาเป็นแสน และที่สำคัญ ปกติเราใช้เงินจำนวนมากในการรับซื้อหนังสือค้างสต๊อกที่สำนักพิมพ์ต่าง ๆ ระบายออกมา เพื่อเอามาขายต่อเป็นหนังสือจัดรายการพิเศษ ซึ่งเป็นช่องทางการทำมาหากินหลักของเมืองหนังสือ และคนในวงการเท่านั้นจะรู้ว่า การค้าหนังสือเก่านั้น มีกำไรมากน้อยขนาดไหน เมื่อมีปัญหาสภาพคล่องทางด้านการเงินผมก็แก้ไขโดยระงับการซื้อชั่วคราว

ในขณะเดียวกัน ก็มีสำนักพิมพ์เล็ก ๆ หลายแห่งพลอยลำบากไปกับผมด้วย แต่แล้วผมก็คิดขึ้นได้ว่า ผมต้องยอมรับความจริงเรื่องทุน เพราะขนาดท่านนายกทักษิณก็ยังเคยเดินแลกเช็คกับเสี่ยกายที่เชียงใหม่ร้อยละห้าต่อเดือน เพื่อมาสร้างหนังเรื่องไทรโศกตอนเข้าวงการหนังไทย ช่วงที่ท่านเริ่มทำธุรกิจอยู่เชียงใหม่ แต่ผมนั้นได้แหล่งทุนที่สามารถนำมาแก้ขัด ถึงแม้นว่าจะต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงหน่อยก็ตาม นายทุนใหม่ของผมนั้น ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็คือบรรดาธนาคารทั้งหลาย แต่ในเมื่อเราถูกตราหน้าว่าเป็นมนุษย์ NPL ซึ่งไม่สามารถกู้เงินทางช่องทางปกติ เพราะธนาคารชาติสั่งห้ามธนาคารต่าง ๆ ปล่อยเงินกู้ ให้พวก NPL ทั้งหลาย ผมเลยต้องใช้บัตรเครดิตของธนาคารต่าง ๆ ที่มีอยู่ร่วม 20 ใบเป็นแหล่งทุนสำหรับซื้อหนังสือจากสำนักพิมพ์เล็ก ๆ ทั้งหลาย บัตรเครดิตที่มีนั้น ผมไม่ได้ไปง้อไปขอจากธนาคาร แต่เป็นธนาคารเองที่มาขอให้ผมเป็นผู้ใช้บัตร เริ่มจากเมื่อปี 2530 ซึ่งเป็นยุคแรก ๆ ที่ธนาคารต่าง ๆ หันมาหากินกับบัตรเครดิตกัน ผ่านมา 15 ปีทำให้ผมมีบัตรเครดิตถึง 20 ใบแต่ละใบมีวงเงิน หนึ่งห้าหมื่นถึง สองแสนบาท รวมกันแล้ว มีวงเงิน 1.5 ล้านบาท เพียงพอสำหรับใช้ในเวลาจำเป็น เวลาใช้ผมก็อาศัยเพื่อนฝูงที่อยู่ตามปั้มน้ำมัน หรือพวกขายส่ง ช่วยรูดให้ โดยยินดีให้เขาหักค่าธรรมเนียมตามที่เขาถูกธนาคารคิด ซึ่งอยู่ระหว่าง 1 ถึง 2.5 % โดยกะระยะให้ดี ให้มีระยะเครดิตไม่น้อยกว่า 40 วัน และเมื่อถึงกำหนดชำระ ผมก็เลือกที่จะชำระเต็มวงเงิน แต่บางทีถ้าหมุนไม่ทันจริง ๆ ก็ยอมชำระบางส่วนซึ่งเหมือนกับว่าธนาคารแห่งประเทศไทยรู้ใจพวกอาศัยบัตรเครดิต เพราะหลัง พ.ศ. 2545 ธนาคารยินดีให้เราจ่าย 5-10 % ของยอดหนี้ แต่วิธีการชำระบางส่วนนี้ ผมไม่อยากใช้เพราะทำให้ธนาคารสงสัยได้ว่าเรานั้นถังแตก แต่ผมไม่กลัวในเรื่องนี้ ผมกลัวเรื่องดอกเบี้ยและค่าปรับของธนาคารมากกว่า เพราะจะคิดประมาณ 30-50 % ต่อปี หากเป็นหนี้เสีย ผมได้อาศัยบัตรเครดิตนี้แหละเป็นแหล่งเงินทุนในการสร้างเมืองหนังสือซึ่งผมไม่คิดอะไรมาก มองว่าเอาธนาคารเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นก็แล้วกัน เล่าให้ใครฟัง ก็โก้ดี ซึ่งก็ต้องขอขอบคุณ

1)ธนาคารกสิกรไทย 3 ใบ

2)ธนาคารกรุงเทพจำกัด 3 ใบ

3)ธนาคารไทยพาณิชย์ 2 ใบ

4)ธนาคารสแตนดารด์ชาเตอร์นครธน 1 ใบ

5)ธนาคารกรุงไทย 2 ใบ

6)ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 2 ใบ

7)นครหลวงไทย 1 ใบ

8)city bank 2 ใบ

9)homepro 1 ใบ

10)central 1 ใบ

11)the mall 1 ใบ

10)airasia 1 ใบ

รวมแล้ว 20 ใบ

เคยนึกหวั่น อยู่เหมือนกัน เมื่อมีข่าวธนาคารแห่งประเทศไทยจะเข้มงวดเรื่องการใช้บัตรเครดิต โดยจะกำหนดให้ผู้ใช้บัตรจะต้องมีเงินเดือน ไม่น้อยกว่า 1ใน 5 ของวงเงินบัตร ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้น ผมก็จะต้องมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า สามแสนบาท ถึงจะมีสิทธิใช้วงเงินตามบัตรที่มีอยู่ แต่อะไรจะเกิดก็พร้อมที่จะรับครับ

แต่เรื่องที่ผมสะดุ้งทุกครั้งเกี่ยวกับการใช้บัตรเครดิตก็คือเมื่อมีคนวิจารณ์หรือด่าพวกเป็นหนี้บัตรเครดิต ที่ผมอยากจะไปต่อปากต่อคำด้วยก็มีนายวีระ ธีระภัตร ที่อ้างตนเป็นอาจารย์ รับปรึกษาปัญหาชาวบ้านเขาไปทั่ว ทั้ง ๆ ที่ก็ไม่ใช่เทวดามาจากสวรรค์ชั้นไหน เพราะบ่อย ๆ ที่ผมให้ฉายาท่านว่าวีระผู้ใจบุญ เพราะท่านปล่อยนก ปล่อยไก่ ออกทางอากาศ เป็นประจำเมื่อตอบปัญหาแบบไม่รู้จริง หรือเชียร์หุ้นบางตัวทำให้คนฟังเสียหายเป็นหมื่นเป็นแสน แต่ผมยอมรับว่าคุณวีระแกด่าผมแบบเสีย ๆ หาย ๆ นั้นเป็นการทำลายสถาบันลูกหนี้บัตรเครดิตหมด ครั้งหลังนี้ถึงประณามว่าพวกผมนั้นหน้าด้านจริง ๆ ที่ต้องไปเข้าคิวจ่ายหนี้ให้เจ้าของบัตร แต่ผมก็ไม่ได้ทำอย่างนั้นครับ ผมใช้วิธีโอนเงินจากบัญชีส่วนตัวไปชำระเลย ไม่เห็นต้องไปเข้าคิวจ่ายดังที่อาจารย์วีระแก่ด่า แต่ที่อาจารย์วีระแกด่าก็ดีนะเพราะเดี๋ยวนี้ผมเห็นคนรุ่นใหม่ไม่กล้าเอาบัตรเครดิตพวก อีอ้อน อีแต๊ม อีซี่ ออกมาอวดชาวบ้าน เหมือนยุคแรก ๆ ที่เริ่มใช้บัตรกัน แต่ก็อยากจะบอกไปถึงอาจารย์วีระด้วยว่า เมืองหนังสือก็ได้อาศัยบัตรเครดิตนี้แหละ ไปซื้อหนังสือของท่านจากศูนย์หนังสือแถว ม.ส.ธ. มาขายให้กับชาวบ้านเขาเหมือนกัน เพราะอาจารย์เล่นแต่เงินสด ไม่ยอมให้เขียนเช็ค ล่วงหน้า 90 วันเหมือนสำนักพิมพ์ทั้งหลาย แต่ก็ต้องยอม เพราะหนังสือของอาจารย์วีระนั้นขายดีจริง ๆ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับเขมรจนผมต้องแอบพาน้องเมียไปเที่ยวตามลายแทงที่ปรากฎในหนังสือของอาจารย์มาแล้ว สนุกและได้ความรู้จริง ๆ ครับ


โชคดีที่เกิดมาจน

บทที่ 20
เมืองหนังสือในเมืองไทย


โชคดีที่เกิดมาจน

บทที่ 20
เมืองหนังสือในเมืองไทย

ผมเริ่มชีวิตในวงการหนังสือ ด้วยการเป็นเด็กขายเรียงเบอร์ ซึ่งสมัยนี้คงเรียกว่าใบตรวจล๊อตตาลี่ หรือใบตรวจหวย จำได้ว่าเริ่มวิ่งขายตามเด็กอื่น ๆ ตอนอายุ 5 ขวบ แต่พอเรียนจบอายุ 17 ก็ได้เข้าทำงานในบริษัทของต่างชาติในกรุงเทพ ซึ่งทำนิตยสารเกี่ยวกับธุรกิจ ดูเหมือนจะเป็นนิตยสารธุรกิจภาษาอังกฤษฉบับแรกของเมืองไทย ในตำแหน่ง พนักงานทั่วไป (เบ้ประจำบริษัท) งานไหนที่ขาดคนผมทำได้หมด พนักงานพิมพ์ดีด พนักงานโทรศัพท์ คนส่งของ พนักงานบัญชี ล่าม ผู้สื่อขาว ตลอดจนพนักงานขายโฆษณา ตลอดจนเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน ที่ต้องวิ่งหาเงินกู้จากเพื่อนฝูง มาใช้ในบริษัท นึกไม่ถึงว่านักเรียนจากอัสสัมชัญพาณิชย์ในยุคนั้น จะเก่งขนาดนี้

ทำอยู่สองปี ก็ได้ตำแหน่งผู้จัดการคนไทยคนแรกของบริษัท แต่หลังจากนั้นเพียง 6 เดือนก็ขัดแย้งกับฝรั่งเจ้าของบริษัท ถึงขั้นโบกมือลา ลาไปเดินขายหนังสือพิมพ์ที่จังหวัดเชียงใหม่ เริ่มจากขายหนังสือพิมพ์ทีละฉบับ โดยยอมเป็นหนี้ร้านสุริวงศ์บุ๊คเซ็นเตอร์ ครั้งแรกจำนวน 7.50 บาท สองปีต่อมา ผันตัวเป็นตัวแทนหนังสือพิมพ์ ด้วยยอดขายวันละ 3000 ฉบับ มีเงินหมุนเวียนเดือนละ 1 แสนบาท ขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 40 บาท ผมเอาเงินหนึ่งแสนบาทไปให้แม่ค้าในตลาดกู้เป็นรายวัน 100 บาทไป 10 บาทมาต่อวัน เงินหนึ่งแสนบาท สามารถออกดอกผลวันละ 10000 บาท ทำอยู่แบบนี้สามปี มีเงินหมุนเวียนเกือบ 10 ล้าน ผมกลายเป็นพ่อเลี้ยงคนหนึ่งของเชียงใหม่ในทันที เป็นเจ้าของร้านหนังสือเช่า แต่เบื้องหลังเป็น สำนักงาน Finance และแล้ว วันหนึ่งก็มีคนร้ายสามคน ตามยิงผม จนดิ้นอยู่ข้างทางตามที่หนังสือพิมพ์ในยุคนั้นลงข่าว

ผมหลบไปเป็นครูสอนเรือใบ-- windsurf และ ครูสอนภาษาอังกฤษ ที่พัทยาอยู่ 2 ปี จนลุงสุข สูงสว่าง ผู้เป็นอาแท้ ๆ ชวนมาร่วมลงทุนทำศูนย์หนังสือดวงกมล ตามศูนย์การค้าต่าง ๆ ในช่วง2526-2530 ซึ่งเป็นช่วง โชติช่วงชัชวาลของเมืองไทย ถึงปี 2536 กลุ่มดวงกมลเป็นผู้นำในวงการหนังสือมีศูนย์หนังสืออยู่ทั่วประเทศมากกว่า100 แห่ง ทำให้คิดการใหญ่ อยากจะเปิดศูนย์หนังสือใหญ่ที่สุดในเอเซียอาคเนย์ ที่ซีคอนสแควร์ ในปี 2538โดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงินแบบไม่จำกัดวงเงิน อยากจะทำอะไรธนาคารสนับสนุนหมด นอกจากโครงการศูนย์หนังสือใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์แล้ว ก็มีโครงการหมู่บ้านนักเขียนที่จังหวัดกาญจนบุรี จนถึงโครงการเมืองหนังสือ ที่อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ผมไปเห็นเมืองหนังสือของประเทศเบลเยี่ยมที่เมือง Redu เกิดจินตนาการใหญ่โตขนาดเป็นเมืองหนังสือใหญ่ที่สุดในโลก ผมวางแผนด้วยการซื้อที่ดินจำนวน 2000 ไร่ ด้วยทุน 100 ล้านบาท โดยเสียดอกเบี้ยเดือนละ 1 ล้านบาท โดยเอากำไรของสาขาดวงกมล แห่งละ 1 หมื่นบาท จำนวน 100 สาขา แผนงานทำได้ง่าย ๆ ไม่น่ามีปัญหาอะไร ซ้ำที่ดินที่ซื้อไว้ก็มีคนมาขอซื้อดิน ไปสร้างถนนสายเอเชีย ซึ่งกำลังขยายเป็นสี่เลน ก็เลยสามารถขายดิน เอาเงินไปสร้างอาคารหลังใหญ่ขนาดตึกแถว 4 ชั้น ได้ถึง 40 คูหา ถือว่าเป็นอัศจรรย์ในชีวิตจริง ๆ

แต่แล้วก็เกิดวิกฤติการเงินในประเทศไทยเมื่อปี 2540 สถาบันที่ปล่อยเงินกู้ให้ดวงกมลถูกปิด อัตราแลกเปลียนถูกปรับสูงถึง 100 % เงินที่กู้ 200 ล้านกลายเป็น 400 ล้าน ดอกเบี้ยที่จ่ายเดือนละ 1 ล้าน กลายเป็นเดือนละ 4 ล้าน การค้าขายของสาขา 100 แห่ง ยอดตกเหลือไม่ถึง 50 % ตัวเลขเหล่านี้ มีผมทำให้เมืองหนังสือ เหมือนถูกฝังทั้งเป็น

นับจากปี 2540 ถึงปัจจุบัน ไม่มีอะไรคืบหน้าเวลาหมดไปกับการขึ้นศาล เพราะถูกสถาบันการเงินฟ้อง แต่เนื่องจากเงินที่กู้มา ก็เอามาซื้อที่ดิน และที่ดินปรับตัวขึ้นมาก ปัญหาก็เลยไม่รุนแรงเท่าไร แต่ปัญหามันเกิดจากภายในกลุ่มที่บังเอิญมีการเอาบุคคลภายนอกเข้ามาร่วมงานแบบชู้สาว เลยทำให้ปัญหาที่นึกว่าจะแก้ได้กลับยุ่งเหยิงมากขึ้น จนเหมือนกับว่าถ้าดิ้นหลุมก็จะยิ่งลึก ผมก็เลยปล่อยวาง ให้เวลาเป็นตัวแก้ปัญหา ของมันเอง ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ ธุรกิจหนังสือเข้าสู่ช่วงแห่งการตกต่ำ และดูเหมือนว่าหนังสือกระดาษ กำลังจะหมด หายไปจากโลกก่อนปี 2560 ทำเอาวุ่นวายไปหมด ผมจึงปรับแผนเป็นครั้งสุดท้าย ว่าเมืองหนังสือที่ฝันไว้ คงเป็นแค่รีสอร์ท ที่จะมีหนังสือเป็นจุดดึงดูดในแง่ของของโบราณ ให้คนไปเที่ยวชม เนื่องจากว่าหนังสือได้ทำหน้าที่เป็นสื่อของ ข่าวสาร เรียนรู้ และบันเทิงของมวลมนุษย์ มานาน นานเพียงแค่ไม่ถึง 100 ปี สำหรับเมืองไทยเรา ซึ่งผมก็ขอฝากงานเมืองหนังสีอไว้เพียงแค่นี้

โรงแรมกลางป่า


โชคดีที่เกิดมาจน

บทที่ 23
โรงแรมกลางป่า

จากสนามบินอุบลราชธานี ผมนั่งรถยนต์อีก 3 ชั่วโมง ก็ถึงรีสอรท์ของศูนย์อนุรักษ์ชนกลุ่มน้อย ซึ่งอยู่กลางป่า แต่มีถนนลาดยางอย่างดี ไปถึงหน้าอาคารหลังใหญ่สร้างด้วยไม้ เป็นอาคารที่สวยงามมากไม้พื้นแต่ละแผ่นมีความกว้างไม่ต่ำกว่า 100 ซ.ม. และมีความยาวตลอดอาคารถึง 60 เมตร อาคารนี้จัดเป็นห้องอาหารสำหรับรับแขกได้ครั้งละสามถึงห้าร้อยคน ผมได้ทราบว่า ณ ที่แห่งนี้มีเจ้าหน้าที่ประมาณ 200 คน ทำงานอยู่ แต่ในวันที่ผมไปค้างมีผมและเลขาเป็นแขกรายเดียวเท่านั้น

ในฐานะที่เคยอยู่ป่าอยู่ดอยเป็นปี ผมอยากนอนค้างที่นี่สักเดือน แต่เลขาคนเก่า-เก่ง และแก่ของผม แกไม่ยอม อ้างว่ามีงบเพียงคืนเดียว คงมีเบื้องหลังเกี่ยวกับการไม่ได้ดูละครน้ำเน่าเป็นแน่ เพราะเห็นแกโทรหามะหน่อที่บ้านเพื่อทราบความคืบหน้าของเรื่องราวในเช้าวันรุ่งขึ้นทันที ก็น่าเห็นใจแก เพราะถึงแม้นเราจะได้นอนโรงแรมกลางป่าดีที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง ซึ่งบรรยากาศจัดว่ายอดเยี่ยมจริง ๆ แต่ที่ขาดไปก็คงเป็นโทรทัศน์ เราพักอยู่ในอาคาร เอ 1 ซึ่งจัดไว้สำหรับแขกพิเศษเท่านั้น ห้องพักอยู่ติดกับแม่น้ำ และห่างจากน้ำตกประมาณ 5-60 เมตรเท่านั้น นอนฟังเสียงน้ำตกตลอดคืน เตียงที่นอนทำด้วยไม้ไผ่เป็นปล้อง ๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 8 นิ้ว เครื่องนอนสะอาดเรียบร้อยดีระดับโรงแรม 5 ดาว เราได้นอนในมุ้งแบบพระธุดงค์ คือห้อยมาจากด้านบนซึ่งรวมเป็นกระจุกเดียว เกิดมาไม่เคยนอน เคยนอนแต่มุ้งสี่หู ห้องน้ำก็เป็นเครื่องสุขภัณฑ์ยี่ห้อดัง น้ำไหลแรงได้มาตรฐาน เวลาเข้าไปใช้ เราเห็นป่าได้ถึงสามด้าน รวมทั้งด้านบนอีก 1 ด้าน เห็นดาวเห็นเดือนได้เต็มที่เลย ที่มุมหนึ่งมีร่มอันใหญ่ไว้ให้กางเวลาฝนตก เข้าไปอาบน้ำแล้วได้บรรยากาศจริง ๆ เสียวแต่ว่าเกิดมีเสือมีงูบุกเข้ามาจะทำอย่างไรดี และที่น่ากลัวอีกอย่างก็คือเรื่องยุง เพราะได้ทราบว่าเจ้าของชื่อคุณวิมล กิจบำรุง เพื่อนนักเรียนอัสสัมชัญด้วยกัน เขาเข้ามาบุกเบิกทำรีสอรท์แห่งนี้ เมื่อประมาณปี 2548จนป่วยเป็นไข้มาลาเรียขึ้นสมอง อาการหนักจนถึงขั้นตาบอด แต่ได้ทราบว่าเวลาผ่านไป 4 ปีอาการดีขึ้นบ้างแล้ว

ที่บริเวณ lobby ผมต้องยกมือไห้วเก้าอี้ตัวหนึ่งทันทีที่เห็นและรู้ว่า เป็นเก้าอี้ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ได้ประทับเมื่อเสด็จมาเสวยพระกายาหาร นึกไม่ถึงจริง ๆ ว่าพระองค์ท่านได้มาถึงที่แห่งนี้ ผมภูมิใจแทนคุณวิมล จริง ๆ

ทางโรงแรมจัดอาหารชุดเล็ก ๆ ให้ผมหนึ่งชุด โดยโต๊ะที่นั่งสามารถเห็นน้ำตกได้อย่างเต็มตา ผมได้แอบเอาข้าวเปล่าโยนลงไปในแม่น้ำ โอ๊ย แม่เจ้า ปลาจำนวนหลายสิบตัวค่อย ๆ ว่ายมากินอย่างมีระเบียบไม่ได้เข้ามาแย่งกันกินเหมือนวังปลาอื่น ๆ ที่เคยไป อาหารอร่อยมากครับ รวมทั้งน้ำผลไม้ที่แปลงมาจากผลหมาก และกาแฟ รสเข้มข้นที่ผมต้องซื้อติดมือกลับมา ผมยืนยันว่าใคร ๆ ก็สนใจที่จะไปเที่ยวที่โรงแรมแห่งนี้ แต่จะพักหรือไม่ก็ให้ถามราคาและขอดูห้องก่อนตัดสินใจนะครับ ส่วนชื่อของโรงแรมก็ขออุบเป็นความลับ ให้ไปหาข้อมูลเองก็แล้วกัน

mail ถึงเมืองหนังสือ

กลับไปหน้าแรก

สองคนที่ผมรู้จัก

จักรภพ เพ็ญแข::จือเซ็ง แซ่โค้ว (บัณฑิต อานียา)

When I had power, I had no experience, and when I had experience, I had no power,"

ลูกค้าชั้นดี ของเมืองหนังสือมีหลายสิบ หลายร้อยคน ที่เป็นกันเองจริง ๆ ขนาดขออนุญาตใส่ชุดว่ายน้ำเข้ามาเลีอกหนังสือ ในศูนย์แห่งหนึ่งของเราในวันที่ระบบปรับอากาศเสีย คือเขาคนนี้แหละ ไม่ว่าบรรยากาศของศูนย์จะเป็นอย่างไร เขามีความสุข ที่ได้เข้ามาเลือก เข้าคุ้ยหาหนังสือที่ตนเองชอบ โดยเฉพาะหนังสือเกี่ยวกับการสืบสวน และบันทึกประวัติของวงการหนังสือและการเมือง ผมมั่นใจว่า เขามีมากกว่าคนไทยอื่น ๆ และคงมีมากในระดับโลกเลยก็ว่าได้เพราะเขามีทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาไทย เขาเคยปลื้มกับศูนย์หนังสือของเรา ที่ทำให้เขามีหนังสือ ของอกาทาคริสตี้ แบบครบชุด ทั้งอังกฤษ และไทย

เขาเคยถูกตำรวจตั้งข้อหาว่าหมิ่นสถาบัน โดยการร้องทุกข์ ของกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม ซึ่งมีผลทำให้เขาหลุดจากตำแหน่งทางการเมืองในระดับรัฐมนตรี ข้อหาหมิ่นสถาบันเป็นข้อหาที่รุ่นแรงที่สุดในสังคมไทย เขาถูกกล่าวหาเพราะไปพูดในต่างประเทศ เขาถูกกล่าวหาเพราะไปพูดให้บรรดาผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่ FCCT (สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศในประเทศไทย) ซึ่งผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าตั้งอยู่ที่ไหนตอนนี้ เพราะผมเคยไปใช้บริการตอนมีที่ทำการอยู่บนดาดฟ้าของโรงแรมดุสิตธานี หลายครั้ง เพราะถูกตามให้ไปจ่ายค่าเหล้า และค่าอาหาร ของเจ้านายในยามวิกาล ผมไม่รู้ว่าเขาจะได้ผลอย่างไรในคดีนี้ แต่ผมมองว่าเขาเป็นคนดี เป็นนักวิชาการที่ดีเป็นอาจารย์ที่สามารถถ่ายทอดเหตุการณ์และเรื่องราวต่าง ๆ ให้คนได้อย่างง่าย ๆ แบบเดียวกับอาจารย์ของเขาคุณพิชัย วาสนาส่ง

จือเซ็ง แซ่โค้ว (บัณฑิต อานียา)

เด็กต่างด้าว ผู้ติดตามพ่อบังเกิดเกล้า เข้ามาหากินในเมืองไทย ตอนอายุไม่ถึงสามขวบ เล่าเรียนด้วยตัวเองโดยไม่เคยผ่านโรงเรียน หรือสถาบันใด ๆ มีผลงานเขียนหนังสือมากกว่า 50 เล่ม ทั้งเรื่องแปล การเมือง และสังคม ผมเคยมองว่าถ้าเมืองไทย จะมีนักเขียนรางวัลโนเบล เขาคนนี้เป็นคนที่เหมาะสมที่สุด เขาเขียนเรื่องชีวิตจากชีวิตจริงของตัวเอง ซึ่งบางครั้งเป็นการขุดคุ้ยกระดูกของผู้บังเกิดเกล้าขึ้นมาประจาน จนผมเคยเตือนเขาหลายครั้ง ไม่รู้ว่าเขาถูกกดดันหรือเป็นโรคประสาทเพราะเคยถูกสันติบาลเอาไปคุมขังเพื่อให้สารภาพว่าเขาเป็น แนวที่ห้าให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และเมื่อพ้นข้อหา ก็ได้ใบรับรองจากโรงพยาบาลศรีธัญญา ว่าเป็นสมาชิกเกรดเอ เขาถูกกล่าวหาว่าหมิ่นสถาบัน เพราะไปพูดในที่ประชุมการเมืองเพื่อการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 พูดแรงมากจนนายตำรวจระดับนายพลผู้ได้ฉายาว่าหนาห้าห่วง ได้แจ้งจับเขาในข้อหาหมิ่นสถาบัน ศาลชั้นต้น ติดสินว่าผิดแต่ให้รอลงอาญา แต่ศาสอุธรณ์พิพากษากลับให้จำคุก 2 ปี ผมภานาขอให้เขาหมดลมหายใจก่อนศาลฎีกาจะตัดสิน เพราะชีวิตที่ผ่านมาในวงการหนังสือ เขาต่อสู้แบบปากกัดตีนถีบจริง ๆ จนชีวิตเขาน่าจะเป็นนิยายชั้นดีได้ แล้วเรื่องอะไรที่เขาจะเข้าไปพักอาศัยในบ้านหลวงแบบสบาย ๆ ซึ่งเขาเองก็คงไม่ต้องการ ในยามที่เขาต้องต่อสู้คดีในศาลไม่มีคนไทยสักคนกล้าเข้าไปดูแล และค้ำประกัน มีเพียง คุณปีเตอร์ อาจารย์ ฝรั่งคนเดียวที่รู้จักกันเพียงผิวเผินกล้าที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย โดยเป็นผู้ค้ำประกันทั้งศาลแพ่ง และศาลอุธรณ์ ส่วนผมนั้นก็ช่วยเขาได้เพียงออกหนังสือรับรองว่า เขามีงานและมีที่อยู่อาศัยที่เป็นหลักแหล่งเท่านั้น เขามีเพื่อนประมาณ 300 คน ในแต่ละวันเขาจะคอยติดต่อวันละ 3 คน ด้วยการลงทุนครั้งละ 1 บาทโทรศัพท์ ไปรบกวนขอความช่วยเหลือ ซึ่งเขาบอกกับผมตรง ๆ ว่าวิธีนี้ เป็นวิธีหลักที่ทำให้เขามีทุนในการดำรงชีวิต และพิมพ์หนังสือเล่มแล้วเล่มเล่า ผมขอคาระวะเขาด้วยใจจริงครับ

ธันวาคม 2551 เขาอายุ 71 ปี ในระหว่างที่ประกันตัวเพื่อรอคำตัดสินของศาลฎีกา ในโทษที่ถูกตัดสินจำคุกสองปี เขาถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาล ศิริราช ด้วยอาการกำเริบของมะเร็ง หมอนัดจะให้เขาผ่าตัด แต่เขาขอหมอกลับบ้าน หมอก็ยอม แต่ปลายเดือนธันวาคม ก็ขอกลับเข้ารักษาใหม่ โดยยินยอมที่จะให้หมอตัดไต ออกข้างหนึ่ง ก่อนเข้าห้องผ่าตัดสองวันเขาขอกินข้าวมันไก่ และขอดูหนังสือ 50 เล่มที่เขาเขียนเป็นครั้งสุดท้าย.......บัณฑิต อานียา นักเขียนของมวลชน Home

เมื่อ ปู่ Bob เดินตามพวกเราถึงน้ำตก แกก็พูดว่า ตอนนี้แกคง ตายอย่างมีความสุข เพราะได้มาพิชิต ทีลอซู ก่อนคนไทยอื่น ๆ อีกหลายสิบล้านคน ที่จะตามแกมา เพราะทีลอซูนี้ ยิ่งใหญ่จริง ๆ และคนที่ป่วยหนักอย่างแกยังมาได้แล้วใครบ้างจะไม่มา


ลุย ที ลอ ซู

ปลายเดีอนพฤศจิกายน 2551 ผมได้รับการไห้ววานจากเพื่อน ๆให้พาไปเที่ยวน้ำตกทีลอซู อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ที่ผมเล่าให้เขาฟัง ถึงความโหดในการเข้าไปเที่ยวชม สมัยที่มีการค้นพบใหม่ ๆ เมื่อประมาณปี 2530 ในครั้งนั้นกว่าจะเดินทางจากอำเภอแม่สอด ไปถึงอำเภออุ้มผาง แล้วเดินเท้าเข้าไปดูน้ำตกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเดินทางกลับไปถึงแม่สอดอีกครั้ง ต้องใช้เวลาเกือบสิบวัน จนเกือบต้องเอาชีวิตไปฝากไว้ที่นั่น และดูเหมือนเป็นการผจญภัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของผม แบบนิยายของคุณพนมเทียน ในเรื่องเพชรพระอุมาเลยทีเดียว

ผมรับงานนี้ด้วยความยินดี กังวลก็ในประเด็นที่ว่าทั้งคณะรวมทั้งตัวผม ทุกคนอายุหกสิบต้น ๆมีโรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคประจำตัวกันทุกคน ห้าคนมีโรคเก๊าเป็นของแถม สองคนต้องกินยาเกี่ยวกับโรคหัวใจเป็นประจำ ที่หนักใจที่สุดคือมีเพื่อนชาวออสสเตเลียคนหนึ่งขอตามไปด้วย แกอายุ 75 ปีเป็นโรคมะเร็งลำไส้ถูกหมอตัดลำไส้ เอาไปเผาทิ้ง เกือบสิบครั้ง ตอนนี้เหลือประมาณ 1 เมตรจากเดิมที่มีความยาวประมาณ 5 เมตร ทำให้เวลากินอาหาร อาหารจะถูกถ่ายออกมาด้วยเวลาเพียง 30 นาที หลังกินอาหารทุกครั้ง จะต้องคอย 30 นาทีให้แกเข้าห้องน้ำ พวกเราเรียกแก่ว่าปู่Bob ผมได้ข้อมูลและเห็นหน้าแกชัด ๆ แล้ว ก็อยากจะเปลี่ยนใจขอร้องให้แกอยู่บ้าน แต่เมื่อรู้ความตั้งใจจริงของแกที่ว่า แกรักเมืองไทยมาก ก่อนตายอยากไปเที่ยวสถานที่สวยและลำบากที่สุดของไทย

ผมและพวก ๆ ก็เลยไม่ขัดใจ ได้ประสานงานกับโรงพยาบาลประจำของแก ที่กรุงเทพ และติดต่อขอความร่วมมือจากหมอแต๋ว พยาบาลอาวุโส ของโรงพยาบาลแม่สอด ซึ่งรู้จักกันมานานให้คอยประสานงานอยู่ที่แม่สอด ซึ่งอยู่ห่างจากน้ำตกทีลอซู มากกว่า 200 กิโลเมตร ตามทางรถยนต์ ให้คอยช่วยเหลือ ผมมั่นใจว่าโรงพยาบาลแม่สอด คงให้ความช่วยเหลือได้ในยามจำเป็น แต่ก็ไม่ลืมที่จะติดต่อเครื่องบินเหมาลำ ของ SGA ให้พร้อมที่จะไปรับที่สนามบินอุ้มผาง หรือแม่สอด หากจำเป็นจริง ๆ โดยเป็นการเหมาลำเที่ยวละ 2 แสนบาท หลังจากทุกอย่างพร้อม ผมและคณะก็ออกเดินทางกรุงเทพมหานคร โดยรถตู้ KIA ซึ่งซื้อมาเพียง สามแสนบาทเท่านั้น

พวกเราตกลงกันว่าจะช่วยกันขับ เพื่อความเป็นส่วนตัว แต่พอถึงเวลาจริง ๆ กลับปรากฏว่ามีผมและปู่ Bob เท่านั้นที่ขับเป็น ส่วนคนอื่นพอขับได้ แต่ไม่เคยขับรถตู้มาก่อน ผมเสนอให้ปู่ Bob ขับในช่วงแรก เพื่อเป็นความภูมิใจของแก แต่แกบอกว่า เอาไว้เวลาจำเป็นดีกว่า เพราะแกไม่มีใบขับขี่ หากเป็นอะไรไป ทางประกันเขาจะไม่จ่ายเงิน เมี่อเป็นเช่นนี้ ผมจึงต้อง solo คนเดียวไปตลอดทาง

วันแรกออกจากกรุงเทพเวลา 10 โมงเช้า แวะไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ผู้สูงวัยทั้งรถได้เข้าห้องน้ำทุก ๆ ชั่วโมง เพื่อสุขภาพ จะเสียเวลามากหน่อยก็ตอนกินอาหาร เพราะแต่ละครั้งต้องคอยให้ปู่Bob แกทิ้งช่วงให้อาหารเดินทางออกประมาณ ครึ่งชั่วโมง เห็นสภาพแล้วก็กลัวว่าจะแย่ระหว่างทาง แต่ปู่ Bobก็ยืนยันว่ายังไหว โดยแกสั่งว่าถ้าเป็นอะไรไป ให้เอาศพแกฝังได้เลย ไม่ต้องแบกกลับเข้ากรุงเทพ แก่สั่งว่าอย่าเผา เพราะเดี๋ยว ญาติ ๆ ที่ออสสเตเลียเกิดอยากเห็นหน้าจะได้ขุดขึ้นมาให้ดู

เวลา 19.00 น.ก็เดินทางถึงแม่สอด รีบตรงดิ่งไปกินอาหารร้านข้าวเม่าข้าวฟ่าง ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นร้านอาหารดีที่สุดของแม่สอด ในเรื่องความอร่อยและราคา ขอยืนยันว่าเป็นร้านอาหารที่สวยงามมาก เรียกได้ว่าเป็น UNSEEN ของแม่สอดก็ว่าได้

คืนนั้นเราพักที่โรงแรมดวงกมลแม่สอด ซึ่งมีการบันทึกไว้ว่าเป็นโรงแรมที่สร้างจากเศษกระดาษและขวดเหล้า เป็นโรงแรมของกลุ่มธุรกิจหนังสือดวงกมล ที่ผมเป็นลูกจ้าง โรงแรมนี้ใช้ทุนจากการขายเศษกระดาษและขวดเหล้าขวดเบียร์ตามสาขาต่าง ๆ ของดวงกมล ซึ่งสมัยก่อนมีมากกว่าร้อยสาขา มาจ่ายดอกเบี้ยให้ธนาคารในระหว่างก่อสร้าง ฟังดูก็แปลกดี แต่ก็เป็นแบบนั้นจริง ๆ

พวกเรา แปดคน เปิดห้องพักทีเดียว 8 ห้อง เพื่อความเป็นส่วนตัว เพราะรู้ว่า คนวัยทองแบบพวกเรา นอนยาก คนไหนนอนไม่หลับจะได้ดูทีวี หรืออ่านหนังสือ โดยเฉพาะพวกสนับสนุนพันธมิตร คงต้องการกู้ชาติผ่านจอทีวีกัน เหมือนตอนอยู่ที่บ้าน ซึ่งหากนอนห้องเดียวกับคนที่ไม่รู้ใจกัน อาจต้องตายไปข้างก็ได้ เพราะพวกเรามีทั้งพันธมิตรและ น.ป.ก. ในจำนวนไล่เลี่ยกัน มีปู่Bob อยู่ตรงกลางคนเดียว เรื่องการนอนคนเดียวนี้แท้จริงในกลุ่มพวกเราบางคนคงมีเบื้องหลังของการเป็นเฒ่าตัญหาก็เป็นได้ แต่ตัวผมเป็นประเภทหมดไฟแล้วพร้อมที่จะไปอยู่วัดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เอาว่าเป็นเรื่องส่วนตัวก็แล้วกัน

เรานัดกันว่าจะออกเดินทางไปอุ้มผางตอนเจ็ดโมงเช้า โดยครั้งนี้จะใช้บริการของบริษัททัวร์ชื่อว่า MAX ที่มีสำนักงานอยู่บริเวณโรงแรมดวงกมลโดยเสียค่าบริการการคนละ 2700 บาท รวมทุกอย่างแม้นแต่ค่าทิป ซึ่งได้ยืนยันว่าไม่ต้องจ่ายอีกแล้ว เพราะระยะหลัง ๆ นี้ คนไทยเรามักจะไม่ค่อยสบายใจเวลาเราไม่ให้เพราะดูเหมือนว่าบรรดาพนักงานของหลาย ๆ แห่งจะหวังได้ทิปจากผู้มาใช้บริการมากเกินไป ที่เห็นชัด ๆ ก็คือเวลาเราเข้าไปใช้บริการจากบรรดานวดแผนโบราณ เราต้องเจอกับพนักงานที่หวังจะได้จากเรา จนถึงขั้นเรียกกันว่า 7 ด่านอรหันต์

ค่าบริการ คนละ 2700 จึงตกลงกันว่าเป็นราคาเหมาจ่าย อันประกอบด้วย ค่ารถยนต์ ไปกลับ ที่พัก 2 คืน อาหาร 6 มื้อ การล่องลำน้ำ 3 ชั่วโมง และการพาเที่ยวตามทางผ่าน รถที่ใช้เป็นรถสองแถวขับเคลื่อนสี่ล้อพร้อมคนขับสี่ตา เพื่อความได้เปรียบในการเดินทาง

เรานัดรวมพลที่ร้านโจ๊กคุณใหญ่หน้าโรงแรมดวงกมล ปู่ Bob ลงมาช้ากว่าใครทั้งหมดพวกเรานึกว่าแกจะเปลี่ยนใจขอนอนเฝ้าโรงแรมรอพวกเรา แต่ทุกคนก็ยิ้มออกเพราะเมื่อถึงเวลาเดินทางปู่แกก็เดินลงมา โดยมีสาว ๆ สองคนประกบข้างเดินมาส่งที่รถ (สาวสองคนที่เดินประกบปู่ Bob ลงมานั้นเป็นพนักงานโรงแรม-ที่คอยให้ความช่วยเหลือ-โปรดอย่าคิดอกุศล)

ตื่นเต้นมากเริ่มออกเดินทาง เป็นวันที่อากาศดี ไม่มีฝน และไม่หนาวการเดินทางช่วงแรกจากแม่สอดถึงอุ้มผางใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงโดยระยะทาง 170 กิโลเมตร มีโค้งประมาณ 1219 โค้ง ตามที่มีการบันทึกอย่างเป็นทางการ แต่จะจริงหรือไม่จริง ใครจะไปนับก็เชิญครับ ปู่Bobแกนั่งหน้าคู่กับคนขับ แต่นั่งได้ไม่ถึงชั่วโมง ก็มีคนในพวกเราไปขอนั่งแทนเพราะเกิดอาการเมารถอย่างรุนแรง ปู่แกก็เต็มใจ เพราะแกอยากไปนั่งข้างหลังเพื่อจะได้สูบบุหรี่เพราะเกิดอาคารเสี้ยนอย่างแรง ปู่แกเป็นคนเดียวในพวกเราที่ยังสูบบุหรี่อยู่ ถามแกตรง ๆ ว่าหมอไม่ห้ามหรือ แกบอกว่าหมอที่รักษาแกเป็นเพื่อนกัน ได้บอกแกตรง ๆ ว่าสูบไปเถอะเพราะแกคงไม่ตายเพราะบุหรี่ แต่แกจะตายเพราะมะเร็งกินลำไส้แกจนหมดมากกว่า ผ่านโค้งแล้วโค้งเล่า เห็นหมู่บ้านเป็นระยะ มีรถวิ่งสวนกลับอยู่ตลอดเวลา บริเวณไหนที่พอจะมีวิวสวย ๆ ก็จะจอดรถ เพื่อยิงกระต่าย และถ่ายรูป ตามประสาคนมีกล้อง กว่าจะถึงอุ้มผาง ก็หมดเวลาไป ห้าชั่วโมง

แวะกินอาหารเที่ยงและนั่งรถวนรอบตัวอำเภออุ้มผาง ต่อจากนั้นก็พากันลงเรือยางที่นั่งกันได้ 12 คน โดยมีพวกเราแปดคน และคนให้บริการอีก 4 นั่งเรือล่องไปตามลำน้ำแม่กลองที่เขาบอกว่า ไปออกทะเลที่สมุทรสงคราม ผ่านธรรมชาติอันวิจิตรพิสดาร แบบไม่เบื่อก็แล้วกัน เราแวะที่บ่อน้ำร้อนเพื่อขึ้นไปเดินยืนเส้น และพูดคุยกับชาวบ้านที่ต้องแบกของเดินไปเดินกลับวันละ 4 ชั่วโมงเพื่อเอาของมาขายพวกเรา ต่อจากนั้นเราก็นั่งเรือยางต่อไปถึงที่ทำการของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ชื่อว่าผาเลือด ฟังดูน่ากลัวแต่ไม่มีโอกาสสอบถามความเป็นไปของชื่อ จากผาเลือดมีรถมารับเราเพื่อเข้าสู่เขตป่า ทีลอซู อันเป็นเป้าหมาย โดยวิ่งแบบช้าๆ ผ่านป่าผ่านเขาอีกเกือบชั่วโมง ก็ถึงเขตที่ทำการของเจ้าหน้าที่รักษาป่าน้ำตกทีลอซู

เราจะนอนที่เขตรักษาป่าที่นี่ 1 คืน วันรุ่งขึ้นถึงจะเดินป่าเพื่อไปดูน้ำตกทีลอซูซึ่งอยู่ห่างออกไปอีก เกือบ ๆ 2 กิโล

สนุกดีครับกับการที่ได้เข้ามารื้อฟื้นวิชาลูกเสือกันอีกครั้ง เจ้าหน้าที่ปล่อยให้เรากางเต๊นกันเองของใครของมัน โดยมีเจ้าหน้าที่แสดงให้ดู ซึ่งหากปล่อยให้พวกเราจัดการกันเอง คงได้ใช้เต๊นมาห่มนอน มากกว่าเข้าไปนอนข้างในแน่ ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงทุกคนก็มีเต๊นที่พักส่วนตัวคนละหลัง ต่อจากนั้นก็เดินกันเป็นแถว ไปแก้ผ้าอาบน้ำ ในห้องน้ำที่สำนักงานป่าไม้เขาจัดเตรียมไว้ให้ การมากางเต๊นในเขตรักษาป่าของกรมป่าไม้นี้ เสียค่าธรรมเนียมเพียง 20 บาทสำหรับคนไทย แต่ต่างชาติคนละ 200 บาท ต่างชาติของที่นี่คงหมายถึงฝรั่งเท่านั้น ถ้าเป็นพวกลาว พม่า เขมร ก็คงเสียเพียง 20 บาท เพราะไม่เห็นเขาตรวจดูบัตรใด ๆ หลังอาหารค่ำก็มืดพอดี เราก็ถูกสั่งให้มุดหัวเข้าไปนอนในเต๊นของใครของมัน ทีแรกนึกว่าจะมีการดื่ม-กิน-เต้นรอบกองไฟเสียอีก แต่เขาบอกตอนนี้ทำไม่ได้แล้ว พึ่งมี กฎหมายออกมาว่าห้ามดื่มเหล้าในที่สาธารณะ จึงเป็นอันว่าพวกเราต้องเป็นเด็กดี นอนแต่หัวค่ำ เก็บแรงไว้ลุยน้ำตกทีลอซู ในวันรุ่งขึ้น การนอนกลางป่านี้เงียบสงัดดีตอนกลางคืน เวลาเอาหูแนบกับพื้น จะได้ยินเสียงพวก ๆ กรนกันสนั่นป่าไปเลย ถ้าพวกอินเดียแดงเขาแนบหูฟัง คงเหมือนกองทัพเรือกำลังเปิดหวูด บุกเข้ามา

หลังอาหารเช้าที่บริการทัวร์เขาจัดให้ ก็ได้รู้ว่า น้ำตก ทีลอซู อยู่ห่างจากที่เราพักประมาณ 1.5 กิโล เดินผ่านป่าไปเรื่อย ๆ ซึ่งเส้นทางนี้สมัยเมื่อ ยี่สิบปีก่อนผมเคยใช้เวลาเดินประมาณ 5 ชั่วโมง แต่ตอนนี้ใช้เวลาเดินไม่ถึงชั่วโมง เพราะหนทางดีหมดแล้ว เขาเทปูนอย่างดี มีการยกระดับ เท่าที่จำเป็น ใครที่เดินไม่ไหว ถ้าเอาวิลแชร์ไป ก็คงจะพอใช้ได้ แต่ต้องมีคนคนคอยช่วยยกข้ามบันได เพราะเปลี่ยนระดับอยู่ตลอดเวลา ถึงจะไปไหว ปู่ Bob ของเรากระย่อง กระแย่ง เดินอยู่เกือบสองชั่วโมง ก็ถึงบริเวณน้ำตก ซึ่งพวกเราก็ไม่มีใครบ่น เพราะพวกเราทุกคนล้วนเป็นตากล้องปู่กล้องกันทุกคน จึงรู้สึกสนุกกับการเดินทางในครั้งนี้

เมื่อ ปู่ Bob เดินตามพวกเราถึงน้ำตก แกก็พูดว่า ตอนนี้แกคง ตายอย่างมีความสุข เพราะได้มาพิชิต ทีลอซู ก่อนคนไทยอื่น ๆ อีกหลายสิบล้านคน ที่จะตามแกมา เพราะทีลอซูนี้ ยิ่งใหญ่จริง ๆ และคนที่ป่วยหนักอย่างแกยังมาได้แล้วใครบ้างจะไม่มา


ผมเป็นนักค้ำประกัน

ผมเคยค้ำประกันลูกน้องประมาณ ห้าร้อยคน เริ่มจากการเช่าซื้อรถมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ ไปจนถึงซื้อบ้าน นอกจากนี้ก็ได้ค้ำประกันให้กับญาติ ๆ เพื่อน ๆ ตลอดจนองค์กรที่ตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้อง

ทั้งนี้เพราะมีความรู้สึกว่าการค้ำประกันเป็นวัฒนธรรมอันดีของมนุษย์ ในการเข้าไปช่วงเหลือผู้อื่นเมื่อมีการถูกขอร้อง ผมรู้สึกว่าตัวเองมีเกียรติเป็นอย่างอย่างที่เป็นผู้ค้ำประกันให้องค์กรทั้ง ๆ ที่ตัวเองมีหุ้นหรือเกี่ยวข้องด้วยเพียงเล็กน้อย

แก่เมื่อเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจเมื่อ พ.ศ.2540 การค้ำประกันทำให้ตัวเองนั้นต้องตกอยู่ในหลุมและหล่มแห่งการยากลำบาก เข็ดแล้ววัฒนธรรมที่ตนเองดูว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม

ผมถูกบรรดาเจ้าหนี้ฟ้องและบังคับให้จ่ายหนี้แทน เป็นร้อย ๆ คดี ดีที่ว่าผู้ที่ผมค้ำประกันให้ล้วนเป็นคนดี ยอมขายทรัพย์สินที่มีมาใช้หนี้ ครั้งนั้นได้รับรู้ความดีความเลวของผู้คนมากขึ้น ที่เลวสุด ๆ ก็คือการถูกฟ้องล้มละลายมีมูลค่าถึง 330 ล้านบาท จากการที่เข้าไปค้ำประกันองค์กรที่ตัวเองเป็นกรรมการทั้งที่มีการถือหุ้นอยู่เพียง 5000 บาท

แต่ดูเหมือนฟ้ายังเมตตา เพราะระบบศาลของไทยเราในช่วงนั้น มีเมตตาจนน่าเกลียด(ในมุมมองของบรรดาเจ้าหนี้)ทำเอาครอบครัวรอดมาอย่างหวุดหวิดแต่ตัวเองยอมรับชะตากรรมแต่โดยดี

ในความโชคร้ายก็ยังมีโชคดีอยู่บ้าง เพราะบังเอิญธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้รายหนึ่งฟ้องว่าเราเป็นผู้ค้ำประกัน หนี้ที่เป็นกันจริง ๆ ไม่ถึง 20 ล้าน แต่ธนาคารฟ้องสูงถึง 70 ล้าน เราก็เลยเอาเอกสารต่าง ๆ มาตรวจสอบดูพบว่า เจ้าพนักงานธนาคารมีการโกงกินกันเป็นทีม โดยแกล้งลืมลงบัญชีการชำระหนี้ 2 รายการ มูลค่า 5 ล้านบาท ได้เอาหลักฐานไปแก้คดีในศาล ศาลเลยยกฟ้องและบังคับให้ธนาคารรับผิดชอบ ซึ่งมีผลทำให้เราได้มาก้อนหนึ่ง ซึ่งพอใช้ในการเลี้ยงตนและครอบครัวไปตลอดชีพทั้งในชาติ นี้และชาติหน้าในเงื่อนไขว่าเราต้องยึดถือเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักในการดำรงชีวิต และที่สำคัญ จะไม่ลืมกรวดน้ำส่งไปให้บรรดาเปรตที่ร่วมกันโกงกินองค์กรของตัวเองทำให้ผมรอดในครั้งนี้

เข็ดจริง ๆ ครับ การค้ำประกัน

บันทึกการเดินทางของขุนคลังข้างถนน

ใช้สนามบินสุวรรณภูมิเป็นคนแรก

29 กรกฏาคม 2549 เป็นวันเปิดทดลองใช้สนามบินสุวรรณภูมิเป็นวันแรก สนามบินที่ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 40 ปี ใช้งบประมาณในการสร้างมากกว่า หนึ่งแสนล้านบาท และมีข่าวใหญ่ออกมาเป็นระยะ โดยมากก็เป็นเรื่องการโกงกินในระบบราชการ โดยเฉพาะในช่วงรัฐบาลของคุณทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นผู้ที่ผลักดันเร่งให้มีการสร้างให้เสร็จ เพื่อใช้แทนที่สนามบินดอนเมือง เพราะทุกวันนี้สนามบินดอนเมืองแออัดมาก บางครั้งต้องบินบนเป็นครึ่งชั่วโมง กว่าจะถึงคิวที่จะลง รายละเอียดต่าง ๆ ของการก่อสร้าง ผู้สนใจไปหาหนังสืออ่านเอาเอง เพราะข้อมูลมากเหลือเกิน มีการกำหนดแน่นอนว่าจะเปิดใช้ล่วงหน้าประมาณ 1 เดือนโดยการให้สายการบินไทย ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติ พร้อมด้วยสายการบินในประเทศอีก 4 แห่ง ร่วมกันเปิดบินเป็นวันแรก นอกจากการบินไทยแล้ว ก็มี นกแอร์ แอร์เอเชีย 1-2- Go บางกอกแอร์เวย์ มีการประโคมข่าวเรื่องนี้อย่างใหญ่โต เราเองก็ตื่นเต้นไปกับเขาด้วย ในฐานะนักท่องเที่ยวชั้นแนวหน้าของเมืองไทยคนหนึ่ง รีบจัดการหาทางบินไปกับเขาให้ได้ในวันแรก ตอนแรกกะว่าจะใช้บริการของแอร์เอเชีย ซึ่งบินจากสุวรรณภูมิไปนราธิวาส ตอนแรกได้ข่าวว่าเป็นสายการบินเอกชนแรกที่จะบินขึ้นจากสุวรรณภูมิในวันนั้น เรากะว่า เมื่อไปถึงนราธิวาสก็จะนั่งรถตู้ไปหาดใหญ่เสียเวลาประมาณ3-4 ชั่วโมง เพื่อนั่งเครื่องบินจากหาดใหญ่กลับเข้ากรุงเทพอีกที แต่จองที่นั่งไม่ได้เลยหันไปจองนกแอร์ ปรากฏว่าโชคดีกว่า เพราะนกแอร์ออกเดินทางก่อนแอร์เอเชีย 5 นาที และที่สำคัญมีเที่ยวบินจากสุวรรณภูมิ ไปหาดใหญ่เลย อย่างไรก็ตามขากลับเราก็ใช้บริการของแอร์เอเชีย เพราะราคาถูกกว่าห้าร้อยบาท

1)ตีห้าออกจากบ้านพร้อมด้วยสมาชิกในครอบครัวอีก 3 คนเพื่อให้เขาตามไปดูว่าสนามบินสุวรรณภูมิสภาพเป็นอย่างไร ใช้เวลาแค่ 15 นาทีก็ถึงสนามบินแล้ว ตื่นเต้นจริง ๆครับเมื่อเห็นสนามบิน เปิดไฟสว่างไสวทั้งอาคาร จอดรถที่อาคารจอดรถ แล้วเดินไม่ถึง 20 ก้าวก็เข้าไปถึงตัวอาคารใหญ่ของสนามบินเลย เราคงได้ที่จอดรถใกล้ตัวอาคารขนาดนี้ครั้งเดียวในชีวิตแน่ ๆ เดินไปตามป้ายชี้บอกทางไปส่วนของผู้โดยสารขาออกในประเทศซึ่งอยู่ทางทางด้านซ้ายไม่นานก็เจอเค้าเตอร์ประชาสัมพันธ์ของนกแอร์ ที่เราจะใช้เดินทาง ได้รับการทักทายเช่นไปงานเลี้ยงพิเศษขององค์กรต่าง ๆ เราถามถึงเค้าเตอร์เช็คอิน ได้คำตอบว่าจะเปิด เจ็ดโมงครึ่ง แต่เราบอกเขาว่าอยากจะไปเช็คอินเป็นคนแรก ก็มีนกหนุ่มเข้ามารับปากว่า ได้เลย พร้อมทั้งขอหมายเลขจอง และเลขโทรศัพท์ของเรา นกหนุ่มคนนี้แสนรู้มาก มองเห็นเบอร์โทรของเรา ก็เอ่ยปากว่า เป็นเบอร์ VIP ของ 1-2-call กลุ่มเดียวกับพวกหากแดง ไม่รู้ว่าเขาจะคิดหรือเปล่าว่า หางแดงส่งมาล้วงตับน้องนกถึงรัง ความจริงไม่ใช่นะ เราเป็นเพียงคนชอบ เที่ยวชอบเดินทางและชอบอ่านหนังสือ เบอร์ที่ได้มาเป็นเบอร์การกุศลครับ เขาบอกให้ไปเดินเล่น ถึงเวลาจะโทรเรียก พร้อมทั้งแจกแผนที่ของสนามบินให้ด้วย ก่อนจากกันเราบอกว่า ไม่เป็นไรจะไปเข้าคิวเอง เพราะกลัวคนอื่นจะเข้าใจผิด หากมีคนไปเข้าคิวก่อน นกหนุ่มผู้นั้นเข้าใจ แล้วนัดว่าเจอที่เค้าเตอร์ E พร้อมทั้งยืนยันว่าเราเป็นคนแรกที่มาแจ้งของเช็คอิน

2)เดินหาเค้าเตอร์เช็คอิน E ตามที่รับข้อมูลมา เจอแล้วก็ไปนั่งยอง ๆ อ่าน ( DARK WATCH -บันทึกเหตุการณ์คราวเกิดวาตภัยที่ Oregon เมื่อปีที่แล้ว เป็นหนังสือขายดีเล่มหนึ่งของปีนี้--รูปหนังสือบนตักนก)ที่แบกติดตัวไปด้วย กะว่าจัดการให้จบใน trip นี้ พอถึงเวลา หกโมงครึ่งก็เริ่มมีคนมาร่วมเข้าคิวด้วย โดยมีการเปิดเค้าเตอร์ถึง 6 ช่อง เราชักใจไม่ดีกลัวไม่ได้เป็นคนแรกที่เช็คอิน เพราะไม่รู้ว่านกน้อยที่มาบริการเค้าเตอร์ของเราจะมีฝีมือในการเปิดเครื่องหรือเปล่า แต่สักครู่นกหนุ่มที่เอาเบอร์จองและเบอร์โทรศัพท์เราไปก็มาถึง พร้อมทั้งบอกให้น้องนกสาว ๆทั้งหลายว่า ให้เปิดเช็คอินให้เราเป็นคนแรกนะ โชคดีที่เรามาเข้าคิวให้คนอื่นๆ เห็น ไม่อย่างนั้นอาจถูกโวยว่าเป็นเด็กเส้นแน่ ๆ โดยเฉพาะถ้ามีใครมาอ้างสิทธิก่อนเรา เราก็จะโวยเหมือนกัน จึงเป็นอันว่าเราได้ เช็คอินเป็นคนแรก สมกับที่ตั้งใจไว้ ดีใจที่นกหนุ่มผู้นั้นเข้าใจความรู้สึกของผู้โดยสารคนหนึ่ง ได้ใบขึ้นเครื่องแล้ว ก็ถูกไล่ให้ไปรับของแจก เป็นกระสอบสีเหลือ ๆ เปิดดูมีเสื้อยืด 4 ตัว ชาเขียว 1 ขวด ถุงใส่ขยะ 1 ใบ หมอนลมอีก 1 ใบ รวมทั้ง Sim Dtac โทรฟรี15 วันอีก 1 อัน พอใจกับของแจกชุดนี้มาก

3)เข้าไปในห้องรอขึ้นเครื่อง บี 1 เป็นคนแรกอีกเช่นกัน ก็มีนกสาวน้อย เข้ามาถามชื่อ พร้อมทั้งไปเอาใบรับรองการใช้สนามบินในวันนี้มาให้ โดยมีการระบุชื่อเราเรียบร้อย ไม่ใช่ระบุเพียงว่าผู้ถือบัตรนี้ เราก็จับยัดใส่กระเป๋า เรื่องแจกใบรับรองนี้ สร้างปัญหาเหมือนกัน เพราะพอผู้โดยสารเข้ามามาก ๆ ก็แจกให้ไม่ทัน ต้องคอยวิ่งไปวิ่งมามาถามชื่อผู้โดยสารครั้งแล้วครั้งเล่าเราเองถูกถามประมาณ 20 ครั้ง กะจะหากระดาษมาทำป้ายแขวคอว่าข้านี้ชื่อ.................................ความจริงถ้าเอาไปไล่แจกบนเครื่อง คงจะเรียบร้อยกว่านี้นะ ก่อนจะถึงเวลาขึ้นเครื่องมีฝูงนกมาให้บริการ มากว่าผู้โดยสารเสียอีก ตามรูปนกในกรงแก้ว

4)มีโขยงนกเดินขบวนเข้ามาในห้องบี 1 ด้วย มีนกยักษ์เป็นจ่าฝูง ทีแรกเราไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร แต่ก็แปลกใจที่เวลาเขาถอดหัว(โขน)ออกเห็นมีนกสาว ๆ วิ่งเอาน้ำเอาข้าวไปป้อนกันใหญ่ ดูเหมือนจะมีมือน้อยๆไปบีบที่ไหล่ด้วย ทีแรกนึกว่าเป็นคุณตัน ผู้ก่อตั้งชาเขียว โอ อิ ชิ ชมในใจว่า คุณตันนี้ยอดเลยไม่เคยพลาดโอกาสงาม ๆ เช่นนี้ แต่แล้วก็มั่นใจว่าไม่ใช่ เพราะหน้าคล้ายกัน แต่หนุ่มกว่าคุณตันมาก แท้จริงเป็น พญานกที่ไปรูดปรื๊ด ๆ ในจอทีวี เมื่อต้นปี วันละ 10 ครั้ง จนผอมอาจต้องไปกินยาธาตุกุหลาบแดงของทามาเสก ที่ตระกูลไปเป็นนอมินี่ให้เขา พญานกนี้มีปัญหาเครื่องตรวจความปลอดภัยร้องไม่ยอมหยุด เจ้าหน้าที่ AOTก็ไม่ยอมให้ผ่าน ต้องจับถอดเสื้อถอดรองเท้า จนเกือบเหลือตัวเปล่า ๆ (รูปพญานกถอดเกือกถอดเสื้อ) ทั้ง ๆ ที่ถ้าจะบอกพวกเด็ก ๆ ที่ทำหน้าที่ว่า “รู้ไหมผมเป็นใคร” เด็ก ๆ คงให้ผ่านอย่างง่าย ๆ เห็นสีหน้าของพญานกตอนนั้นแล้วเสียว ๆ ครับ แต่ก็ต้องชมว่า พญานกนิ่งจริง ๆ ไม่อย่างนั้นคงเป็นข่าวใหญ่แน่

5)ได้เวลาเครื่องออกแต่ออกไม่ได้ ทีแรกนึกว่ารอ VIP นึกบ่นอยู่ในใจเหมือนกัน แต่ได้ยินน้องนกบนเครื่องพูดว่า มีผู้โดยสารหลงทางหาประตู บี 1 ไม่เจอ แต่เช็คอินแล้ว จึงมีการให้นกสาว ๆ ไปตามหา หาเจอแล้ว กำลังจับมาส่งขึ้นเครื่อง เครื่องจึงรอ 10 นาที

6)ในช่วงที่รอ take-off มองไปทางขวาของหน้าต่าง เห็น TG กำลังโผขึ้นจาก runway นึกในใจว่า ถ้าน้องนกรักษาเวลา คงได้ขึ้นจากสุวรรณภูมิเป็นลำแรกแน่ เพราะ TG ท่านเสียงเวลา นานเกินควรเพราะรอ VIP ซึ่งเกิดเปลื่ยนใจ อยากจะนั่งรถเมล์กลับไปบ้านจันทร์ส่องหล้า ขณะเดียวกันเมื่อมองไปทางซ้าย ก็เห็นคุณหางแดง จอดอยู่ กลาง bay ทำท่าจะออกเหมือนกัน กลัวว่าจะโดนปาดหน้าเพราะเลยเวลาแล้ว ผมแปลกใจว่าทำไม่คุณหางแดงไม่ยอมใช้บริการงวงช้าง ทั้ง ๆ ทีมีเหลือเกือบร้อย ไม่รู้ว่ากัปตันเข้าซองไม่เป็นหรือไม่อยากจ่ายค่าบริการ หรือเป็นเอกลักษณ์ของเขา ใครรู้ช่วยบอกด้วย แต่ทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยดี เมื่อทุกลำต่างก็ขึ้นจากสนามบินสุวรรณภูมิผิดเวลาเหมือน ๆกัน คนละเล็กละน้อย แต่ก็ตามคิว ที่ได้ตกลงกันไว้ ประทับใจในเที่ยวบินประวัติศาสตร์ สุวรรณภูมิ-หาดใหญ่ เที่ยวนี้มากครับ โดยเฉพาะนกแอร์

บุกเดียว พนมเปญ ต่อ ด้วย นครวัด นครธม

23 พฤษภาคม 2549

ผมใช้บริการของแอร์เอเชีย กทม—พนมเปญ รวมภาษีในราคา 1550 บาท ออกเดินทาง เจ็ดโมงเช้า ใช้เวลา ชั่วโมง ครึ่งก็ออกไปเดินหน้าสนามบินพนมเปญ ผมเกาะแมงกาไซค์ ไปโรงแรม new york ที่อยู่กลางเมือง ในราคาสองดอลล์ เป็นโรงแรมที่ค่อนข้างดี คืนละ 30 ดอลล์ ไปถึงก็ขอเขากินข้าวเช้าโดยแลกกับพรุ่งนี้จะไม่กินเพราะจะรีบเดินทางไปเสียมเรียบ ผู้จัดการเขาใจดี ก็เลยได้กินจนอิ่ม จากนั้นก็ออกเที่ยวในตัวเมืองพนมเป็ญ ด้วยวิธีการเหมารถ สามล้อ หกชั่วโมงเสียเงิน 12 ดอลล์ โดยกำหนดให้พาไป

1)ทุ่งสังหาร ออกไปนอกเมืองประมาณ 20 กม. ทาง 10 กม.จะถึงแย่มาก ๆ เพราะอยู่ระหว่างสร้างทางใหม่ และฝนตกมาหลายวัน

2)ค่ายกักกันเชลยของ พอล พต (อยู่ในเมือง)

3)พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ

4)พระราชวัง

5)ตลาดกลาง

6)พาไปจองตั๋วรถที่จะไปนครวัด เป็นรถทัวร์ ปรับอากาศ ราคา 350 บาท

สามล้อที่ว่าจ้างได้ทำตามที่ตกลงด้วยดี ทำให้ได้เที่ยวพนมเปญตามที่กะไว้ ตอนกลางคืนออกไปเดินใกล้โรงแรม มีแต่พวกแมงกาไซค์ มาอาสาพาไปนอนกับผู้หญิง

การเที่ยวตัวเมืองพนมเปญเพียงวันเดียวขอสรุปตามความเห็นส่วนตัวดังนี้

1)ธุรกิจส่วนใหญ่ในตัวเมืองถูกครอบงำโดยชาวเวียตนามเป็นส่วนใหญ่ เหมือนเช่นก่อนที่เขมรแดงของพอล พต จะเข้ามาจัดการด้วยใช้สาเหตุของชาตินิยม ซึ่งสร้างความเจ็บปวดให้กับชาวเขมรทั้งปวง

2)ช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนนั้นห่างมาก มีรถหรู จำนวนมาก ขณะเดียวกันเดินไปไหนก็มีขอทานเข้ามารบกวนตลอดเวลา

3)เหตุการณ์ความโหดเหี้ยมของเขมรแดง ถูกบันทึกและสั่งสอนกันมาว่าเกิดขึ้นเพราะการสนับสนุนของทหารไทย ทำให้ชาวเขมรโดยทั่วไปไม่ชอบคนไทย และมีการถ่ายทอด ผ่านไกด์ที่พาเที่ยวทุ่งสังหารและค่ายกักกัน

มุ่งสู่เสียมเรียบ

วันที่ 2 ออกจากโรงแรม 6 โมงเช้าเดินไปร้านขายบาแก๊ต ขนมปังท่อนยาว ๆ ใส่ไส้ตามแต่ชอบอันละ 35 บาท เป็นอาหารหนักพอ ๆ กับข้าวแกงได้ 1 จานสบาย ๆ ตามด้วยโค๊กกระป๋องละ 20 บาท ต่อจากนั้นเดินทางไปขั้นรถทัวร์เพื่อไปเสียมเรียบ คิวรถอยู่ห่างจากโรงแรมประมาณ 1 กม. รถออกเวลา 7.00 น. มีผู้โดยสายเต็ม 40 ที่นั่ง เป็นนักท่องเที่ยวมากกว่าครึ่ง ชาวเขมรจะแต่งตัวแบบนักธุรกิจเรียบร้อย ส่วนนักท่องเที่ยวก็มีฝรั่งและเอเชียอย่างละครึ่ง

รถใช้เวลา 5 ชั่วโมงครึ่งสำหรับระยะทาง 320 กม. มีการพักให้เติมพลังและเข้าห้องน้ำ 3 ครั้ง จุดพักเป็นร้านอาหารขนาด 200 ที่นั่ง ทุกแห่งจะมีพ่อค้าแม่ค้าและเด็ก ๆ มาขายของกันเป็นที่สนุกสนาน ที่เห็นแปลกก็คือพวก แมลงทอดต่าง ๆ มีมากมาย ได้เห็นตัว บึ้ง ที่เมืองไทยผมเคยจับมาย่างกินครั้งสุดท้ายเมื่อ 40 ปีก่อน ที่โรงเรียนประจำ จังหวัดชลบุรี เป็นแมงมุมขนาดฝ่ามือเด็ก 2 ขวบ เขาขาย 3 ตัว 10 บาท มีทั้งที่ทอดแล้ว และเป็น ๆ นับเป็นพัน ๆ ตัว เห็นแล้วสยดสยอง นอกจากนั้นก็มีแมลงต่าง ๆ มากกมาย

ส่วนใหญ่จะเป็นจิ้งหรีด กระป๋องละ 10 บาท ตามข้างทางจะเห็นเขาเอาผ้าพลาสติกแบบขาวขุ่น ขนาดผ้าปูที่นอน ทั้งเตียงเล็กและเตียงใหญ่ ไปตากบนราวตากผ้า แต่มีหลอดนีนอนอยู่ใกล้ ๆ เพื่อล่อให้แมลง บินมาเล่นไฟตอนกลางคืน แล้วชนผ้าพลาสติกตกไปในถังหรือแอ่งน้ำด้านล่าง ตอนแรก ผมนึกว่าชาวบ้านเขาทำจอสำหรับฉาย DVD ผ่าน projector แบบที่บ้านเราใช้จอพลาสม่า แต่ที่เขมรเขาใช้ ผ้าพลาติก อย่างกับที่รถไฟใต้ดินบ้านเราใช้กระจกเป็นจอ

ก่อนจะถึงตลาดเสียมเรียบประมาณ 10 กม. จะเห็นคนขี่แมงกาไซกันมาก ข้าง ทางมีคนเอาน้ำมันใส่ขวด โค๊กลิตร วางขายกันเป็น 100 เจ้า เขาขายกันขวดละ 45 บาท

รถพาไปจอดที่สถานีขนส่ง ซอมซ่อ แต่มีผู้คนมาก รถยังไม่ทันจอดก็มีกลุ่มผู้ชายยี่สิบสามสิบคนวิ่งตามรถพร้อมชี้ไม้ชี้มือ เพื่ออาสาให้บริการ

ลงจากรถก็เจรจากับลุงคนหนึ่งด้วยภาษาอังกฤษ แต่คุยด้วยไม่นานแกก็บอกว่า พูดไทยก็ได้ เพราะฟังเราไม่ค่อยเข้าใจ

สรุปก็คือ ให้ไปส่งที่โรงแรมโรซ่า แล้วพาไปเที่ยวนครวัดเลย ตกลงกันว่าจะใช้เวลาทั้งหมด 6 ชั่วโมง เหมาจ่ายกันที่วันละ 8 ดอลล์ ส่วนค่าโรงแรมนั้นเขาคิด 13 ดอลล์ ไม่มีอาหารเช้า

ได้ห้องพักแล้วก็ไปนครวัดเลย ไกลออกไปจากตัวตลาดเสียมเรียบประมาณ 10 กม. ถนนดีมาก และผ่านบริเวณที่เรียกว่าเมืองใหม่ กำลังมีการก่อสร้างมากมาย สนามกีฬา โรงพยาบาล ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน รวมทั้งโรงแรมระดับ 5 ดาว กำลังก่อสร้างกันใหญ่ อีก 3 ปี ที่นี่คงเป็นหน้าเป็นตาของเสียมเรียบรียม ก่อนจะถึงบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ต้องผ่านด่านเพื่อทำบัตรผ่าน จะทำแบบวันเดียว 20 ดอลล่า 2-3 วัน 40 ดอลล่า หรีอ 7 วัน 60 ดอลล่าก็ได้ มีการถ่ายรูปติดบัตรให้ด้วย สำหรับชาวเขมร ไม่ต้องเสียค่าผ่าน

วันแรกเที่ยวนครวัด

วันที่สองเที่ยวนครธม ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กัน

การเที่ยวทั้งสองแห่งนี้ไม่สามารถอธิบายได้ละเอียดเพราะข้อมูลมากเหลือเกิน ผู้สนใจควรหาหนังสือมาอ่าน เล่มที่ขอแนะนำคือ นครวัด นครธม ของ TRIPS MAGAZINE ราคาเล่มละ 185 บาท ซึ่งให้รายละเอียดดีมากทำให้เราไม่ต้องจดไม่ต้องจำ เพราะมีในหนังสือหมดแล้ว เพียงทำให้เราได้เห็นของจริงเท่านั้น

เที่ยวครบทั้งสองแห่ง ตามที่ตั้งใจไว้ ความจริงมีที่เที่ยวอีก หลายแห่ง แต่กลัวสับสน เพราะแค่สองแห่งนี้ ก็จำเกือบไม่ไหวแล้ว

กลับเข้าตลาดเสียมเรียบตอนหกโมงเย็น แล้วไปสนามบินนั่งเครื่องบางกอกแอร์เวย์ PG 947 ออกเวลา20.40 ทุ่ม กลับเข้า กรุงเทพ ใช้เวลาบิน ชั่วโมงเดียว วิธีนี้เสีย 4690 บาท ต้องเสียค่าใช้สนามบินเสียมเรียบอีก 25 ดอลล่า (1000 บาท) ต่างหาก

ใครที่อยากประหยัดเงิน

ก็ต้องเลือกนั่งรถทัวร์กลับไปพนมเปญ รถออก 12.30 น. แล้วไปย่ำราตรีที่พนมเปญ บินกลับเข้า กรุงเทพด้วยแอร์เอเซีย ตอน 8.30 น. แต่ต้องออกจากโรงแรมเช้าหน่อย เพราะตอนเช้ารถติดมากในพนมเปญ ที่สำคัญต้องจองล่วงหน้า เพราะตั๋วฉุกเฉินของ airasia ค่อนข้างแพง

ความเห็นส่วนตัว

1)ที่เสียมเรียบนี้ อะไร ๆ ก็มาจากเมืองไทย โดยเฉพาะน้ำมัน ซึ่งเป็นสินค้าหลัก ดูเหมือนว่าเป็นการลักลอบนำเข้ามากขายแบบกระจายรายได้

2)รถสามล้อซึ่งลากโดยแมงกาไซแบบผู้หญิง เห็นแล้วทึ่งมาก คล้าย ๆ กับรถที่ใช้ม้าลากในหนังฝรั่ง ผู้โดยสารนั่งได้ถึง 4 คนเมืองไทยน่าจะเอามาใช้วิ่งตามซอย จะทำให้ประหยัดค่าโดยสาร ได้มาก

3)ขณะที่นั่งกินข้าวตอนกลางคืน มีข่าวน้ำท่วมในเมืองไทย พวกเขมรมุงดูกันใหญ่ พอหมดข่าวเขาตบมือกันใหญ่ ด้วยความพอใจ

4)ได้ติดตามกลุ่มนักท่องเที่ยวฝรั่ง ไกด์อธิบายว่า ความพินาศที่เกิดขึ้นที่นครวัด นครธมนี้ เป็นฝีมือของชาวสยาม ซึ่งอายจากเหตุการณ์นั้น และเปลี่ยนชื่อเป็นไทยในปัจจุบัน

5)เด็ก ๆ ชาวเขมรที่เสียมเรียบและพนมเปญ มีการเรียนภาษาอังกฤษกันอย่างกว้างขวาง เพื่อไว้บริการนักท่องเที่ยว แม้นแต่ขอทานก็ยังสามารถ พูดอังกฤษได้

6)ประเทศไทยสามารถเกี่ยวเกี่ยวผลประโยชน์ของนครวัด นครธมได้หากสามารถเชี่อมต่อการเดินทางจากจังหวัดสุรินทร์ เพราะหนทางสดวกกว่า ที่จะผ่านทาง ปอยเปต ซึ่งปัจจุบันลำบากมาก

>

สรุปค่าใช้จ่าย คนละ สำหรับกลุ่ม 3 คน

1) ค่าวีซ่า เข้าเขมร 800

2) ตั้ว กรุงเทพ-พนมเปญ แอร์เอเซีย 1600

3) ภาษีสนามบินดอนเมือง

4) รถสนามบิน-โรงแรม 100

5) โรงแรม เฉลี่ยห้องสามคน 400

6) รถนำเที่ยว 6 ชั่วโมง 300

7) อาหาร 2 มื้อ 300

8) ค่ารถทัวร์ พนมเปญ-เสียมเรียบ 350

9) ค่ารถนำเที่ยว 3 วันคนละ 750

10) ตั๋วเข้าอุทยาน 3 วัน 1600

11) โรงแรมเสียมเรียบ ห้อง 3 คน 2คืน 600 (เฉลี่ยคนละ)

12) บางกอกแอร์ เสียมเรียบ-ดอนเมือง 5000

13( ภาษีสนามบินเสียมเรียบ 1000

14) อาหาร 3 วัน 2000

รวม 15,300

บินไปไปเมืองจีนถูกกว่าไปเชียงใหม่

ไปเมืองจีนด้วยเครื่องบินถูกที่สุดในชีวิต

จองairasia ไป-กลับ เซี๊ยเหมินเมืองเก่าที่พัฒนาใหม่ด้านตะวันออกของจีน ตรงข้ามเกาะไต้หวัน เมื่อเดือน ธันวาคม 48 แต่ออกเดินทาง 20 มีนาคม 2549 เสียคนละ 1705 บาทรวมค่าภาษีสนามบินอีก คนละ 500 รวมทั้งหมด 2205 บาท ใช้เวลาบิน 3 ชั่วโมงครึ่ง

นับว่าเป็นการเดินทางไกลถูกที่สุดที่เคยทำมา เพราะถูกกว่านั่งเรือไปเมืองจีนเมื่อปีที่แล้ว โดยขึ้นเรือที่เชียงของ จังหวัดเชียงรายแล้วไปขึ้นบกที่เมือง Jin Hong ในแค้วนสิบสองปันนา ครั้งนั้นเสียคนละ 3000 บาท

ครั้งนั้น ประทับใจมาก ๆ เพราะเป็นการเดินทางครั้งสุดท้าย ก่อนที่จีนจะ ทำการระเบิดแก่งหินต่าง ๆ ในแม่น้ำโขง ทำให้สภาพธรรมชาติเปลี่ยนไปมาก

ไปคราวนี้กะจะลุยตัวเมืองเซี๊ยเหมิน 2 วัน (ไปไหนก็นั่งรถเมล์ไป เสียคนละ 1 หยวน) กะจะต่อยอดไปให้ถึง yongding เมืองที่ถูกเสนอให้เป็นเมืองมรดกโลก โดยน่าจะมีการประกาศช่วงงานโอลิมปิก ที่จีน ในปี 2008

ความพิเศษที่อยากไป yongding เพราะได้ข้อมูลว่า ในช่วงสงครามคอมมูนิสส์ เจ้าหน้าที่ อาวากาศของ เมกา ได้เสนอข้อมูลต่อสภาความมั่นคงว่า มีสิ่งก่อสร้างที่น่าสนใจรูปร่างโดนัท ขนาดใหญ่พอ ๆ กับสนามโคลิเซี่ยมของกรุงเอเทน เมืองโบราณของกรีช เป็นอาคารทรงกลม อาคารที่ว่ามีนับหมื่นอันตอนตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ในเขตฟู่เจี่ยน ซึ่งมองดูแล้วน่าจะเป็นฐานขีปนาวุธ—หรือโรงงาน ที่ใช้ในการทหาร ทางสภาความมั่นคงรีบตรวจสอบ แต่ต้องใช้เวลาถึง 5 ปี จึงพบว่า มันเป็นเพียงคอนโดมิเนียม ซึ่งเป็นที่อาศัยของชาวบ้าน โดยสร้างด้วยไม้และดินเหนียวแต่มีขนาดใหญ่ โดยแต่ละอันจะมีห้องพัก 3-500 ห้อง สร้างมา ประมาณ 100-300 ปี

เราได้ข้อมูลแค่นี้จึงอยากไปดูให้เป็นขวัญตา หลังจากได้ข้อมูลเบื้องต้นจาก Google เมื่อหาคำว่า yongding พวกเรา 4 คนไม่รู้ภาษาจีน ไปเมืองจีนจึงเหมือนกลุ่มคนใบ้ออกเที่ยว กลุ่มคนใบ้ที่พูดไม่ได้ซ้ำยังอ่านไม่ออกอีกด้วย ดังนั้นการเตรียมข้อมูลจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะต้องเก็บรูปถ่ายสถานที่เกี่ยวข้อรวมทั้งมูลด้านค่าใช้จ่ายให้มากที่สุด เป็นต้นว่าอยากจะไปไหนในเมืองนั้นเราก็เอารูปคอยถามเขา บางคนเขาก็นึกว่าเราจะไปขายรูปให้เขาก็มี ที่หยาบขนาดเอามือปัดรูปที่เรากะจะถามทางไป ก็มี การเที่ยวตัวเมืองเซี๊ยเหมินนั้นไม่มีปัญหาอะไร เพราะอาศัยข้อมูลจาก blue planet ของ pantip ก็เหลือเฟือแต่การออกไปเที่ยวนอกตัวเมืองเป็นของลำบากและเสี่ยงมาก ๆ ถ้าแก้ปัญหาไม่ถูกอาจหลงเป็นอาทิตย์ และที่สำคัญพวกเรามีงบที่จำกัด และมีตั๋วเที่ยวกลับเป็นข้อบังคับที่กดดันมาก ๆ การตัดสินใจจึงห้ามพลาด

เมื่อถึงสนามบิน เซี๊ยเหมิน ก่อนเครื่องลง 10 นาที จะมีเจ้าหน้าที่มาฉีดสเปย์ฆ่าเชื้อโรคและแมลง ตามทางเดินเจ้าหน้าที่บอกว่าเป็นมาตรการป้องกันโรคซาร์ของจีน ซึ่งดูจะไม่เข้าท่า ความจริง น่าจะ กำหนดให้ผู้โดยสารทุกคนจะต้องผ่านการฆ่าเชื้อโรค ก่อนออกนอกประเทศจะดีกว่า เครื่องบินจอดห่างจากตัวอาคารประมาณ 100 เมตร ต้องเดินลงจากเครื่องและปีนบันไดเข้าไปในตัวอาคาร เป็นอาคารที่ทันสมัยคล้ายสนามบิน KL ของมาเลย์ แต่สภาพไม่พลุกพล่าน ไม่เหมือนสนามบินบ้านเราที่ดอนเมือง ซึ่งสภาพเหมือนในห้างสรรพสินค้า

สภาพสร้างใหม่ ทุกอย่างทันสมัยหมด และที่สำคัญ มีทหารหญิงที่สวยระดับนางงามจักรวาลมายืนเคารพบรรดาผู้โดยสาย ด้วยท่าทางทะมัดทะแมง สวยแต่น่ารัก เหล่าบรรดาพ่อชี-กอ ต่างพากันถ่ายรูปกันใหญ่ เขาไม่ยอมให้ถ่ายรูปคู่ คงจะกลัวทหารหญิงเขาเสียราคา ส่วนที่ต้องชมก็คือห้องน้ำ มีผ้ากันเปื้อนสำหรับที่นั่งโถส้วม เลื่อนเปลี่ยนเอง และระบบฉีดน้ำล้างก้นที่สามารถปรับหาเป้าหมาย ที่ต้องการ ก๊อกน้ำและถังขยะใช้ระบบเซ็นเซอร์ เปิดและปิดเอง ดูจะทันสมัยกว่าสนามบินใด ๆ ในขณะนี้ ร้านค้ามีอยู่เพียงสามร้าน โดยไม่มีลูกค้าเลย

ผ่านพิธีการตรวจสอบเอกสารเข้าเมืองเรียบร้อง ก็ออกจากสนามบน มีรถ TAXI จอดรอบรับเป็นแถวยาว ตามลายแทงที่เรามี บอกว่าออกจากสนามบินให้เลี้ยวซ้ายเดินไปสุดอาคาร จะเห็นรถเมล์ แล้วให้รอขึ้นสาย37 เราทำตามที่เขาบอก แต่เมื่อเดินไปสุดอาคาร มีแต่ความมืด เป็นลานจอดรถธรรมดา เอาแล้วเริ่มกังวล ต้องเดินกลับไปที่ตัวอาคารสนามบินอีก ถามคนที่เดินผ่านเป็นภาษาอังกฤษ ไม่ได้เรื่องสักราย ที่สุดก็แวะเข้าไปถามเจ้าหน้าที่เค้าเตอร์ ก็ไม่ได้เรื่อง จึงรีบเอารูปสถานีรถไฟที่เราจะไปออกมาถือ แล้วเดินไปหารถ TAXI ไม่พูดมากเปิดประตูด้วยความมั่นใจขึ้นนั่ง แล้วเอารูปให้คนขับดู คนขับส่งเสียง อะ แล้วก็ออกรถ มิเตอร์ก็ขึ้นทันที 4 หยวนเรานั่งคู่กับคนขับ และช่วยเขาเบรกอยู่บ่อย ๆ เพราะที่นั่น ขับรถชิดขวา ต่างกับที่บ้านเราที่ขับชิดซ้าย นั่งเสียวไปตลอดทาง

นั่งไปเกือบครึ่งชั่วโมงก็ถึงที่หมายเหมือนกับรูป ที่เราถืออยู่ในมือ มิเตอร์ขึ้นว่า 28 หยวน เราก็ให้เขาไป 30 แล้วทำมือโบกลา เขาก็เข้าใจดีนะว่าไม่ต้องทอน ขอให้ง่าย ๆ เข้าใจภาษากายอย่างนี้ตลอดการเดินทางก็ดี ลงจากรถ มองไปทางขวาเห็นห้าง WALL MART ทางซ้ายเป็นโรงแรม XIAMEN PLAZA ที่เราจะพัก จึงรีบพาพวกเดินเข้าไปโรงแรม ที่นี่ดีหน่อย มีพนักงานพูดอังกฤษรู้เรื่อง ขอห้องพัก 2 ห้อง ห้องละ 300 หยวนแต่ที่แปลกก็คือ เขาขอให้เราจ่ายมัดอีกห้องละ 900 หยวน ไม่รู้ว่าเคยมีคนไทยมาสร้างวีระเวร ไว้ที่นี่หรีอเปล่า ประเภทชอบสะสมของที่ระลึกหยิบติดมือกลับบ้านไปด้วย เพราะก่อนเครื่อง AIRASIA จะลงก็มีการประกาศ เตือนผู้จะขโมยเสื้อชูชีพให้ยุติการกระทำ (เราไม่แปลกที่เห็นวางขายอยู่ที่จตุจักร ตัวละ 500 บาทเท่านั้น) เป็นอันว่าใครจะไปนอนโรงแรมนี้ก็ต้องสำรองเงินมัดจำห้องอีกห้องละ 900 หยวน (4500 บาท)ด้วยก็แล้วกัน

ห้องพักของที่นี่ใช้ได้เลย ในห้องมีสินค้า OTOP ประเภทเครื่องสำอางและยาชูกำลังวางอยู่ บนโต๊ะ มากกว่า 10 รายการ เห็นของแล้วก็รีบโทรไปบอก น้อง ๆ ที่ไปด้วย ห้ามไปยุ่งเด็ดขาด นี่เองคงเป็นสาเหตุที่เขาเรียกเงินมัดจำ ห้องละ 900 หยวน เพราะเพียงอาหารพิเคษบำรุงสำหรับท่านชายชอบสนุก ซองเดียวก็ราคา 100 หยวน เท่ากับ 500 บาท แชมพูสมุนไพรซองละ 20 หยวน เท่ากับ 100 บาท นอนหลับสบายครับ คืนนั้น เพราะทีวี มีหลายสิบช่อง แต่มีช่องเดียวที่พูดอังกฤษ แต่เป็นการเสนอข่าวแบบวนไปวนมา จนไม่อยากดู

หกโมงเช้ารีบตื่นแล้วเรียกคณะออกไปเดินออกกำลัง ตามลายแทงแนะให้ไปเดินเที่ยวหน้าสถานีรถไฟ ก็พบว่าพลุกพล่าน มีคนเดินหลายร้อยคน เพราะที่นั่นนอกจากเป็นสถานีรถไฟแล้วยังมีรถเมล์ จอด หลายสิบสาย แต่จอดแค่ 1-5 นาทีแล้วก็ขับออกไป เห็นตำรวจค่อนข้างมาก เขาทำหน้าที่อยู่ 2 อย่าง

1) เรียกผู้ชายเข้ามาขอดูบัตรแล้วพูดผ่านมือถือ แจ้งไปที่ศูนย์ให้ตรวจสอบความถูกต้องและดูข้อมูลว่าเจ้าของบัตรมีปัญหาหรือเปล่า วิธีนี้ทันสมัยดี ถ้าตำรวจไทยทำแบบนี้ โดยไปตามตลาดหรือศูนย์การค้าคงจับต่างชาติที่หนีเข้าเมือง ทำให้มีรายได้เสริมจมเลย

2)จับพวกที่ถุยน้ำลาย ไปเสียค่าปรับคนละ 10 หยวน แล้ว เอามาเฝ้าหาคนทำผิดรายใหม่ วิธีนี้ก็น่าจะมาใช้ที่กทม. จับพวกข้ามถนนแบบ ควาย ๆ ก็ทำกัน นอกจากนั้นก็เห็นสภาพชีวิตของบ้านนอกเข้าเมือง มีทั้งพวกตื่นเต้น และพวกนั่งเศร้า มีพวกวัยรุ่นหญิงด้วย เห็นแล้วสงสาร และคงเป็นเหยื่อของพวกแก๊งต้มตุ๋นเลว ๆ ทั้งหลายต่อไป

เสร็จแล้วก็เข้าไปกินอาหารเช้าในโรงแรม อาหารดีมาก มีทั้งแบบจีน และแบบสากล ให้เรากินอย่างเต็มที่สั่งลูกทีมว่าอย่ากินมาก เอาแค่อิ่มมื้อเดียว ไม่ใช่อิ่มไปทั้งวัน เพราะเรามาเที่ยวและมาชิม เดี๋ยวจะไม่ได้ไปชิมร้านอื่น พวกลูกทีมงง เพราะเวลาไปที่อื่น ปกติจะถูกสั่งให้กินเต็มที่เผื่อทั้งวันเลย เราสั่งเพราะรู้ว่าอาหารที่Xiamenราคาถูกมาก เมื่อเทียบกับแหล่งท่องเที่ยวอื่น ทีนี้ก็ถึงการออกลุย Xiamen ซึ่งเป้าหมายคือการนั่งรถเมล์ๆเที่ยว เพราะไปไหน ๆ ก็ 1 หยวน 5 บาทเท่านั้น ซึ่งสรุปได้ดังนี้

1)สาย 1 จากหน้าสถานีรถไฟที่เราพักไปมหาวิทยาลัย เซี๊ยเหมิน และวัดหนานฝู่โถว รถสายนี้จะผ่านย่านไนท์บาร์ซา ออกจากคิวหน้ามหาวิทยาลัยประมาณ 5 นาที เห็นมีคนมาก ๆ ก็ลงไปเดินได้เลย

2)นั่งสาย 28 จากหน้าโรงแรมไป เกาะเปียโน ต้องไปลงที่เรือเพื่อข้ามฟากไปอีกที ขาไปค่าเรือฟรี ขากลับคนละ 8 หยวน เกาะนี้ชื่อ กูหลั่นยู คำกลางฟังดูแปลก ๆ GULANGYU

3)นั่งสาย 19จากหน้าโรงแรมไป ศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ

4)นั่งสาย 21 จากหน้าโรงแรมไปถนนจงซานลู่ ผ่านสถานกงสุลไทย

5)นั่งสาย 67 จากหน้าท่าเรือไป ถงอัน เมืองจำลอง รายการนี้เสีย 3 หยวน เพราะค่อนไกล ประมาณ 1 ชั่วโมง โดยได้ไปดูบนแผ่นดินใหญ่ด้วย

6)นั่งสาย 29 จากถนนเลียบชายหาดหลัง ศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ ผ่านชายหาด ไปสิ้นสุดที่ ตลาดหน้าท่าเรือไปเกาะเปียโน 7)นั่งสาย 18 นั่งจากหน้า มหาวิทยาลัยเซี๊ยะหมิน ไป Jimei บนแผ่นดินใหญ่ เป็นเมืองการศึกษา มีสวนสวย และฟารม์จรเข้ จ่ายคนละ 3 หยวน เพราะเป็นการเดินทางออกนอกเกาะและไกล ประมาณ 30 กม.

8)นั่งสาย 23 จากท่าเรือ ไป สถานีขนส่งเพื่อออกนอกเมือง ไปไกลถึง เซี่ยงไฮ้ ได้ มาที่นี่ก็นั่งรถเมล์เที่ยว ดูบ้านดีเมืองเขาก็พอแล้ว ประหยัดเงิน และไม่หลงทาง เพราะนั่งสายเดิมทั้งไปและกลับ ถ้ากลัวหลงก็หาซื้อแผนที่ที่มีภาษาอังกฤษและหมายเลขรถเมล์ พร้อมเส้นทาง โดยจำท่ารถเมล์สำคัญสักอันสองอันก็ไม่หลงแล้ว พวกเราเที่ยวจนทั่วแล้ว

จบจากนั่งรถเมล์เที่ยวแล้วทีนี้ก็คือคราวจะต้องออกไปเมืองyongding เมืองที่อยู่ห่างจากเซี๊ยเหมินออกไป 400 กิโล โดยต้องไปเริ่มต้นที่สถานีรถทัวร์ ซึ่งเราไม่รู้เหมือนกันว่าอยู่ตรงไหน

เรามีรูปสถานีขนส่งที่จะนั่งรถออกนอกเมือง รวมทั้งข้อมูลว่าจะต้องนั่งรถเมล์สาย..23.....จึงจะถึงสถานีที่ว่า

ทีแรกกะว่าจะเอารูปให้พนักงานขับรถหรือคนเก็บสตางค์ให้เขาดู เพื่อให้เขาบอกเราเมื่อถึงที่หมาย แต่เมื่อเราเป็นคนใบ้ก็ไม่รู้ว่าจะบอกอย่างไร รวมทั้งรถเมล์เขาไม่มีคนเก็บสตางค์ จึงเป็นอันว่าต้องช่วยกันดูข้างทางจนกว่าเห็นอาคารตามรูปก็แล้วกัน ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง นั่งไปได้ครึ่งชั่วโมงก็เห็นอาคารที่เป็นสถานีขนส่ง แต่ก็ต้องนั่งเลยไปอีกไกล แล้วเดินย้อนกลับอีกที เรียกว่านั่งให้คุ้มก็แล้วกัน ไปถึงสถานีขนส่ง ก็งัดเอารูป หมู่บ้าน Ku Heng และมีภาษาจีนในรูป ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีตึกดินยักษ์ ให้คนขายตั๋วดู เขาก็ชี้ไปอีกช่องหนึ่ง แล้วทีนี้ก็ถึงปัญหาที่จะบอกเขาว่า จะไปวันนี้ เวลาไหน กว่าจะรู้เรื่องก็ทำเอาผู้โดยสารที่อยู่ด้านหลังเริ่มส่งเสียงไม่พอใจที่ทำให้พวกเขาต้องเสียเวลา ก็ต้องทำหน้าด้านเอาหน่อยก็แล้วกัน เสียคนคนละ 40 หยวน ดีนะที่ตอนนี้เขามีการใช้คอม ในการออกตั๋ว จึงมองออกว่า รถออกตอนที่โมง ที่นั่งหมายเลขอะไร รถจอดอยู่ที่ช่องไหน เมืองเซี๊ยเหมินไม่ใช่ย่อยนะ สถานีขนส่งเขามีเครื่อง CTX แบบใช้ตามสนามบิน ไว้คอยscan กระเป๋า และผู้โดยสายอย่างถี่ถ้วน ก่อนจะเข้าไปในบริเวณรอคอยรถทัวร์ สิ่งสำคัญที่สุดก่อนจะขึ้นรถคือต้องเข้าห้องน้ำให้เรียบร้อย เพราะรู้ว่าเป็นการเดินทาง 5-6 ชั่วโมง รวมทั้งเสบียงไว้ให้พร้อม เพราะเราไม่มีข้อมูลว่าเขาจะแวะที่ไหนบ้างหรือเปล่า 2 ชั่วโมงแรกรถทัวร์อย่างดีขนาด 28 ที่นั่ง วิ่งบนถนนไฮเวย์ 4-6เลน ดีกว่าบ้านเรา แต่หลังจากนั้นเป็นทางขึ้นเขาและกำลังพัฒนา จึงพบว่าการนั่งข้างหน้าเพื่อจะได้ดูวิวข้างทางเริ่มมีปัญหาที่ต้องทนฟังเสียงแตรที่กดอยู่ทุก ๆ นาที ทำเอาหูอื้อไปเลย มีอยู่ช่วงหนึ่งถูกขอร้องให้ลงไปเข็นรถที่เสียและขวางทางอยู่บนทางโค้งบนยอดเขาเป็นของแถมด้วย เห็นป้ายแสดงข้างทางมากมาย แต่ก็ไม่รู้เขาเขียนว่าอะไร สรุปว่าไปเมืองจีน ไม่สามารถขับรถเองก็แล้วกัน นั่งรถไปสี่ชั่วโมงก็เริ่มเห็นตึกยักษ์ ตามข้างทางแล้ว ตื่นตาตื่นใจมาก ๆ เป็นทั้งรูปกลมและสี่เหลื่ยม และแล้วรถก็ไปจอดที่สถานี Ku-heng โดยมีผู้โดยสารลงพร้อม ๆ กับเราหลายคน เป็นชาวบ้านธรรมดา มีเราเท่านั้นที่เป็นนักท่องเที่ยว ลงรถก็มีพวกแมงกาไซค์รับจ้างมารับนับสิบคน (ได้ข้อมูลมาว่าเมืองไทยเราเป็นต้นแบบของการบริการขนส่งมวลชนด้วยแมงกาไซค์เป็นประเทศแรกของโลก)ทันทีที่ลงจากรถก็มีเสียเรียกโวยวาย ถ้าเป็นบ้านเราก็จะเป็นประโยคว่า “ไปไหนพ่อ” ซึ่งเวลาผมเดินทางไปทางอีสานจะได้ยินเป็นประจำ ฟังดูแล้วชื่นใจดีแท้ ได้เห็นบ้านตึกดินยักษ์ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับสถานี จึงรีบเดินไปทันที เพราะปวดฉี่กะว่าจะไปฉี่ข้างในอาคารให้เป็นที่ระลึกสักหน่อย แต่คนเฝ้าเขาไม่ยอมให้เขา ทำไม้ทำมือส่งภาษาใบ้ให้รู้ว่า หมดเวลาให้ดูแล้ว จึงเป็นอันว่า วันแรกนี้ได้ดูแต่ด้านนอก ซึ่งก็ประทับใจแล้ว เดินดูสักครู่ก็ไปหาโรงแรมนอนดีกว่า ซึ่งก็หาได้ง่าย ๆ ใกล้ ๆ กับสถานีขนส่ง มีอยู่ สามแห่ง ไปพบพนักงานก็ส่งภาษาใบ้ว่าเราอยากขอดูห้องก่อน เขาก็พาขึ้นไป จึงตกลงพักเลย เขาเรียก 120 หยวน เราต่อเหลือ 100 เขาก็ยอม เอาเป็นว่าเราได้พักห้องตามราคาที่เราเต็มใจจ่ายก็แล้ว

รายละเอียดการเที่ยววันที่ 2 ไม่รู้จะบรรยายอย่างไรดี ดูเอาจากรูปประกอบก็แล้วกัน

ถึงวันกลับ เราก็ไปที่สถานีขนส่ง อยู่ข้าง ๆ โรงแรม บอกเข้าว่าจะไป Xiamen เขาก็ชี้ตารางเดินรถให้ดู เราก็เอาไม้ขนไก่ชี้เวลาที่เราอยากไป จ่าย 50 หยวน ได้ตั๋วเป็นภาษีจีนทั้งใบ ตัวเลขก็เป็นภาษาจีน แล้วก็ออกไปเดินเล่นฆ่าเวลา ใกล้เวลาเดินทาง ก็กลับมาที่สถานี แต่ปรากฏว่ารถที่เราจะเดินทางไม่ใช่รถทัวร์อย่างดี ที่เราใช้ตอนมา กลายเป็นรถเมล์แบบรถ ขสมก. สีเขียว ที่เรียกว่า ด่วนมหาภัยในบ้านเรา แต่ก็จำใจเพราะพูดไม่เป็น ถ้าพูดเป็นคงทะเลาะกันแน่ เพราะรถห่วยกว่าแต่ ค่าโดยสายแพงกว่าขามา 10 หยวน ซึ่งเรานึกว่าเป็นค่าบริการจอง จากการรู้ว่านั่งข้างหน้าได้ดูวิวแต่ต้องทนเสียงแตร ก็เลยขยับไปนั่งด้านหลัง ก็สบายดี เสียอย่างเดียวที่คนนั่งข้าง ๆ ดันเอาเป็ดขึ้นรถมาด้วย 2 ตัว ตัวใหญ่ ชูหัวออกมาอย่างเดียว และมองเราด้วยความสงสัยตลอดทาง เหมือนจะขอความเห็น แต่มันไม่ร้องไม่ดิ้น ไม่กินอะไรเลย ทีแรกนึกว่าเป็นตุ๊กตาเป็ด แต่เห็นมันเคลื่อนไหวได้ ก็เลยคิดเอาว่า เจ้าของคงจะเอามันกลับบ้าน เพื่อไปต้มกิน จึงจัดการ ตัดลิ้น หักขา แล้วใส่ถุง ชูหัวออกมาหายใจอย่างเดียว คณะที่ร่วมไปด้วย มีคนหนึ่งเป็นหวัด ทำให้นึกถึงเรื่องหวัดนกไปตลอดทาง

จาก Yongding กลับเซี๊ยเหมิน ใช้คนละเส้นทางกับขาไป คราวนี้เป็นเส้นทางโบราณและทางด่วน ได้เห็นความสวยงามและชุมชมมากกว่าขามา ซึ่งมีแต่ป่าเขา ได้รู้ได้เห็นความเจริญว่า ตอนนี้เมืองจีนเขาเน้นเรื่องการสร้างทาง โดยสร้างเป็น ทางด่วนอย่างดี เก็บเงินค่าผ่านทางเป็นระยะ ประมา ณ 50 กม. ก็มีด่าน

เตรียมกลับเมืองไทย

เรากลับไปค้างที่ XIAMEN PLAZA อีกคืน ก่อนจะขึ้นเครื่องกลับ กรุงเทพในวันรุ่งขึ้น ตอนเช้าวันกลับ บอกให้ทุกคนออกเที่ยวตามลำพังโดยนั่งรถเมล์ แบบนั่งไปนั่งกลับ เห็นอะไรน่าสนใจก็ลงไปเดินดู เสร็จแล้วก็นั่งรถสายเดิมกลับมาที่โรงแรม ส่วนใหญ่บอกว่าจะไปเดินในมหาวิทยาลัย เซี๊ยเหมิน ซึ่งใหญ่โตมาก และอยู่ใกล้ ๆ แหล่งท่องเที่ยวและการค้า โดยแจกตั๋วและPASSPORT ใครมีปัญหาก็เจอกันที่สนามบิน ถ้ามีปัญหามากกว่านั้นก็ตัวใครตัวมัน โดยบอกล่วงหน้าว่าให้นั่งรถเมล์ไปขอความช่วยเหลือที่สถานกงสุลไทย ที่ชี้ใหดูแล้ว ปรากฎว่า ไม่มีใครแตกกลุ่ม ก็เลยขึ้นรถเมล์ตามกันเป็นขบวนเช่นเดิม เรากลับไปโรงแรมตอนสี่โมงเย็น เพื่อขนของไปสนามบิน ตอนแรกวางแผนว่า ขามาจะนั่งรถเมล์จากสนามบินมาโรงแรม แล้วขากลับค่อยนั่ง TAXI แต่เพื่อค้นหาความจริงเรื่องรถเมล์สาย 37 ทีว่าวิ่งจากสนามบินไปสถานีรถไฟมันมีปัญหาอะไรหรือ เราเลยขอให้ใช้รถเมล์ ในการเดินทางกลับไปสนามบิน ทั้ง ๆ ที่ของก็มาก แต่ก็ไม่มากเท่าใด เพราะ AIRASIA กำหนดให้แบบของได้คนละ ไม่เกิน 22 กก. ( เข้าใต้เครื่อง 15 ถือได้อีก 7) รถเมล์ใช้เวลา ชั่วโมงครึ่ง กว่าจะถึงสนามบิน เพราะรถติด และเมื่อเห็นสนามบินแต่ยังห่างประมาณ 1 กิโลก็มีคนลง แต่เราไม่ยอมลง อยากจะรู้ให้แน่ ๆ ว่ารถเมล์จะสุดที่ไหน ปรากฎว่า เขาพาเราออมไปอีกด้านหนื่ง แล้วค่อยวกกลับมา โดยเสียเวลา ประมา ณ 10 นาที ไปสุดสายห่างจาก จุดที่เคยได้รับข้อมูล ไปอีกประมาณ 200 เมตร ไปจอดหน้าอาคาร บริษัท HONEY WELL พวกเราก็แบกของพะรุงพะรัง เข้าไปที่สนามบิน รวมแล้วต้องเดินประมาณ 1 กม. ถึงตัวอาคาร เขากำหนดให้รออยู่ด้านหน้าซึ่งไม่มีอะไร เขาจะเปิดให้เข้าก่อนเครื่องออก 2 ชั่วโมงเท่านั้น คนก็มากที่นั่งก็ไม่พอทำเอาหงุดหงิด พอสมควร และที่สำคัญหน้าจอที่สนามบินขึ้นว่า AIRASIA แถมให้อีก 2 ชั่วโมง เลยได้โอกาสนั่งอ่านหนังสือเรื่องพระเจ้าปราสาททองจนจบ ก่อนขึ้นเครื่องหนึ่งชั่วโมง พาลูกทีมไปนบะหมี่ แบบมาม่า ชามละ 250 บาท เป็นมื้อเดียวที่เราจ่ายแพง เพื่อเป็นความทรงจำในการมาเที่ยว เซี๊ยเหมินในครั้งนี้

ตอน เช็คอิน ปรากฎว่าในกลุ่มน้ำหนักเกินประมาณ 10 กิโล เลยต้องลากกางเกงและเสื้อมาใส่ทั่บกัน คนละ 2 ตัว สามตัว ก็แก้ปัญหาได้ง่ายๆ ในระดับเซียน แต่ตอนอยู่บนเครื่องเห็นคนนั่งข้าง ๆ นั่งดมยาดมตลอดทาง ขอขอบคุณ AIRASIA ที่ทำให้เราได้เที่ยวไกลที่สุดด้วยงบประมาณน้อยที่สุด โดยพวกเราก็ได้อุดหนุนอาหารบนเครื่องแบบครบชุด ทั้งอาหารหลัก ของว่าง และเครื่องดื่ม หมดไปคนละเกือบ 300 บาท ทำเอาอาเฮีย อาซิ้มที่นั่งใกล้ เหล่กันเป็นแถว คงนึกว่าพวกเรารวย หรือ โง่ ที่กินอะไรมากมายขนาดนั้น โดยเขาหารู้ไม่ว่าเราเสียเงินค่าเครื่องบิน คนละ 870 บาทต่อเที่ยว แต่พวกเขาเสียคนละห้าพันกว่า

ความปลอดภัยในการเดินทาง

การเดินทางตามลำน้ำโขงสามารถใช้บริการของบริษัท เดินเรือมากมาย ไม่ว่า ไทย พม่า ลาว จีน เวียตนาม เขมร ซึ่งมีบริการวันละ หลายเที่ยว ส่วนใหญ่จะไปสิ้นสุดที่ประเทศจีน ในราคาที่แตกต่างกัน แล้วแต่สภาพเรือ และการให้บริการ แต่ถ้าคิดถึงเรื่องความปลอดภัยแล้ว ต้องยกให้เรือจีน เพราะเป็นเรื่องสบายใจว่า จะไม่โดนปล้นระหว่างทาง นอกจากนี้เรือจีนเขาอยากแวะพักตรงไหน ก็ทำได้หมด ไม่ต้องขออนุญาตเจ้าถิ่น ถามเจ้าหน้าที่ของเรือจีน เขาเล่าให้ฟังว่า มีข้อตกลงพิเศษว่า ในพื้นที่ใดที่ไม่ปลดดภัย ทางจีนเขาจะจัดการให้ โดยส่งคนมาอยู่ เป็นนิคมจีน บริเวณที่มีปัญหา แห่งละ หนึ่งพันคนพร้อมอาวุธ เพื่อดูแลความปลอดภัยให้เรือจีน เรื่องไม่ดีต่าง ๆ จึงไม่เกิดขึ้น กับเรือจีน แต่เรือของชาติอื่น ๆ มักจะมีปัญหา โดยเฉพาะกับพวกติดวาวุธตามชายแดน ซึ่งมักจะมาขอหรือรีดไถประจำ แต่เรือจีน ปลอดภัยดีทุกประการ ผมจึงเลือดใช้บริการ ด้วยความเต็มทั้ง ๆ ที่ราคาแพงกว่ากัน 30 %

ความบ้าของพ่อค้าแตงโม

ใกล้ตลาดของหมู่บ้านจินฮง ในแคว้นสิบสองปันนา ของจีน มีสพานให้คนข้ามแม่น้ำกว้างประมาณ 300 เมตร แต่ถ้าจะไปทางลัดต้องขี่จักรยานบนเส้นลวด ข้ามไป เหมือนที่นักกายกรรมเขาทำกัน ซึ่งมีน้อยคนที่เขาจะทำแบบนี้เพราะตายไปหลายคนแล้ว นาน ๆ จะมีขี้เมามาขี่เล่นเท่านั้น ไม่เคยมีนักท่องเที่ยวกล้าทำ แต่เราเห็นว่าไม่มีอะไรยาก ก็เลยจัดการโดยการอุ้มแตงโมไว้ในท้องอีกใบ หัวใจเต้นแรงตอนที่ขี่ ไม่รู้เหมือนกันว่าถ้าตกลงไปคอหักตาย บริษัทประกันเขาจะจ่ายให้หรือเปล่า ขี่เสร็จชาวบ้านแถวนั้นตบมือกันใหญ่ เขาบอกว่า เสียดายที่เราไม่ตกไปตาย เพราะถ้าตาย พวกเขาจะได้ดูการยิงเป้าเป็นของแถมอีก เพราะคนเฝ้าเส้นลวด ดันหนีกลับบ้านไปหาเมีย

ทำดีก็เสี่ยง

มิถุนายน 2553

นั่งรอรถเมล์อยู่ที่ถนนเพชรบุรี ใกล้แยกอโศก เห็นนิโกรนายหนึ่ง แกนั่งยืดคอ หดคอ ตลอดเวลาเพื่อมองหารถเมล์ที่จะนั่ง นึกสงสารก็เลยถามแกว่าจะไปไหนแกบอกว่าจะไปซีคอนสแควร์ อยากไปโดยรถเมล์ฟรี นั่งรอมาสองชั่วโมงแล้ว เราเลยบอกว่าวันนี้เป็นวันอาทิตย์ พวกรถเมล์ฟรีเขาหยุดราชการ มันก็เลยไม่มาสักคัน เราบอกให้ไปกับเรา โดยรถเมล์ปรับอากาศ สาย 206 ขึ้นรถแล้ว แกทำเฉย ๆ เราเลยจ่ายค่าโดยสารให้ ปกติแล้วถ้าเป็นฝรั่งเขาจะไม่ยอมให้ใครจ่ายแทนง่าย ๆ นั่งในรถก็ถามว่าแกจะไปทำอะไรที่ซีคอน แกว่าจะไปหางานทำ อยากจะเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ เราเลยอาสาพาไป ไปถึงซีคอนก็พาไปหาโรงเรียนสอนภาษา 4-5 แห่งเพราะเป็นลูกค้าเราทั้งนั้น ทุกแห่งก็มีกระดาษให้แกกรอกข้อมูล เรากระซิบถามเจ้าหน้าที่ด้วยภาษาไทยว่าโอกาสมีหรือไม่ ได้ข้อมูลว่า ถ้าเป็นฝรั่งขาวก็มีโอกาสมากกว่า เสร็จจากกรอกใบสมัครก็พาแกไปเลี้ยงข้าว แกกินแบบอร่อยเหมือนกับอดมาหลายวัน

เสร็จแล้วก็พาไปที่ร้านหนังสือที่เราทำงาน และบอกแกให้จำทางไว้ให้ดี ๆ ถ้ามีปัญหาก็แวะมาได้ จากนั้นก็พาแกออกไปส่งที่หน้าศูนย์การค้า เพราะขนาดคนไทยยังหลงกันทุกวัน ก่อนจากกันแกขอเบอร์มือถือเรา เราก็เลยยิงเบอร์เข้าเครื่องแก เป็นอันจบสำหรับวันนั้น

จากนั้นสองวันแกก็เรียกเข้ามือถือเราและบอกว่าจะแวะมาหาตอนเที่ยง เราบอกว่าบ่ายสองดีกว่า แกบอกว่าขอเป็นเวลาเที่ยงเถอะ เราก็ว่าเที่ยงก็เที่ยง เราขอเลี้ยงข้าวก็แล้วกัน แกก็มาตามนัด มาถึงเราก็พาไปกินข้าว แกกินสามจานบอกว่าอร่อยมากอาหารไทย ระหว่างกินก็คุยกัน สรุปว่า แกต้องการงานทำมาก ๆ เพราะไม่อย่างนั้นจะมีปัญหาที่จะอยู่เมืองไทย เพราะเงินแกถูกล้วงไปหมด เราก็นึกในใจว่าตัวใหญ่และดำอย่างนี้ใครจะกล้าวะ แต่ก็เชื่อแก ก็เลยแนะนำว่า เอาอย่างนี้ดีกว่า พรุ่งนี้เช้าเจ็ดโมงจะไปรับ จะพาไปอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ มีที่พัก และค่าอาหาร ส่วนรายได้อื่น ๆ ต้องหาเอง แกตกลงให้ไปรับที่อพาร์เม้นท์แถวปลายถนนกรุงเทพฯกรีฑา

รุ่งขึ้นเอารถตู้ประจำตำแหน่งไปรับ ไปถึงแกก็ขนของออกมากองหน้าอพาร์เม้นท์แล้ว มีกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ 1 ใบ และถุงแบบแม่ค้าโบ้เบ้อีกสองใบ คุยกันตลอดทางสรุปว่าแกเป็นแคนนาดา แต่พ่อเป็นแคมมารูน แกเป็นนักวิจัยเกี่ยวกับสมุนไพร แต่ผมมั่นใจว่าแกเป็นนักวิจัยฝุ่นแน่นอน แกเล่าว่า มาเที่ยวเมืองไทย และรักเมืองไทยมาก ๆ อยากอยู่เมืองไทยนาน ๆ และเคยอ่านหนังสือบอกว่าเมืองไทยนั้นดีมาก ไม่ต้องมีเงินก็อยู่ได้ แกเลยไม่ได้เอาเงินมามาก กะว่าจะอยู่เมืองไทยสักหกเดือนตอนนี้เงินหมด ยังติดต่อที่บ้านไม่ได้ มีเมียแล้ว และลูกสาวสองคน เราเลยนึกในใจว่า พี่แกจะเล่นเอาจู๋มาอันเดียวเลยหรือนี่ ทำแบบสมัยข้าหนุ่มๆ ไปขุดทองที่เมกามีค่าเครื่องบิน แล้วไปเป็นชาวเกาะ(เพื่อน)จนกว่าได้งานล้างจาน ฟังดูแล้วชักน่ากลัวเพราะขณะนี้กำลังมีข่าวเรื่องคนดำส่วนใหญ่ มักมาสร้างปัญหา จนคุกกลางที่บางขวาง นักโทษต่างชาติกว่า 90% เป็นคนดำทั้งนั้น ส่วนใหญ่ก็คดีขนยา-ฉ้อโกง-ลักทรัพย์ แต่เราก็ถือว่า มันคงมีคนดีบ้าง ไม่เสียไปทั้งหมด โดยเฉพาะเจ้าดำคนนี้ สำเนียงเขาใช้ได้ เอาไปสอนอังกฤษให้พนักงานของเราและชาวบ้านคงได้ หรืออย่างน้อย ๆ ช่วยยกของก็คงคุ้มกับค่าแรงวันละ 240 บาทอัตราขั้นต่ำที่เราว่าจ้าง

ไปถึงหน่วยงานของเราที่อำเภอพยุหะคีรีจังหวัดนครสวรรค์แกท่าทางดีใจมาก และเราก็พาไปบ้านเดี่ยวที่จะให้แกพัก โดยส่งแม่บ้านมาช่วยจัดบ้านด้วยคนหนึ่งบอกว่าแม่บ้านให้อยู่ช่วยสองชั่วโมง ต่อจากนั้นแกต้องทำเองหมด

ท่าทางแกดีใจและพอใจกับบ้านพัก เพราะทุกอย่างพร้อมหมด ผมพาแกนั่งรถเที่ยวพยุหะคีรี และพาแกไปกินอาหารร้านทิดเทืองซึ่งเป็นร้านอาหารดีที่สุด แกมีความสุขกับการกินมาก แกบอกว่าเป็นครั้งแรกที่กินอร่อย แต่เรามองว่าแกอร่อยทุกมื้อ เมื่อกินกับเรา เราให้ชื่อใหม่ว่าคุณขาว และจัดให้พนักงานของเราสองคน คอยช่วยเหลือและหางานให้ทำ คนชื่อแผน เปลี่ยนชื่อเป็น MR.Pan ส่วนอีกคนชื่อ เปรม เราให้ชื่อว่า MR.PETER ส่วนคุณขาวเรียกตาม PASSPORT ว่า MR.Endrew

15 สิงหาคม 2553

ได้รับแจ้งว่าเจ้าขาวกำลังมีสาวมาตกหลุมรัก เป็นข้าราชการสาว พ่อแม่มีฐานะดี เป็นที่รู้จักกันดีทั้งพยุหะ เขาทั้งสองกำลังเร่งสร้างตำนานรักฉบับไร้พรมแดน พอรู้ข่าวผมรีบห้อรถคู่ชีพไปพยุหะทันที เจ้าขาวบอกว่ารักสาวคนนี้มาก ส่วนแม่บ้านของเราเล่าว่ามีสาวน้อยมาหลงรักจริง ๆ ขับรถเก๋งคันงามมาหาทุกวัน วันแรกเอาข้าวมาส่ง วันที่สองเอาเสื้อผ้าไปซัก วันที่สามมารับไปเที่ยว วันที่เราไปถึงเป็นวันที่สี่กำลังจะไปเที่ยวต่างจังหวัดกัน ฟังข้อมูลเบื้องต้นแล้วก็บอกเจ้าขาวว่าดีใจด้วยนะที่มีสาวมารัก เจ้าขาวก็บอกว่าเขารักเธอสุดหัวใจเช่นกัน ผมเลยขอนัดกินข้าวพร้อมกันเลย จะได้รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป เจ้าขาวดีใจมากที่มีผมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

บนโต๊ะอาหาร ผมบอกสาวน้อย(ด้วยภาษาไทย)ว่ารู้ ไหมว่าเจ้าขาวมีแต่ตัวเปล่าๆ ไม่มีเงินมีทองอะไร และอยู่ในฐานะนักท่องเที่ยวกระจอก ต้องมารับจ้างผมวันละ 240 บาทโดยมีสิทธิใช้วันละ 100 อีก 140 เก็บไว้ต่อ VISA ซึ่งต้องไปต่อทุก ๆ สองเดือน เกิดเธอมีลูกกับเขาแล้วเขาต้องกลับประเทศลูกของเธอก็จะกลายเป็นอีดำ อ้ายดำเท่านั้นเอง เธอและพ่อแม่คงจะเสียใจไปตลอดชีวิต สาวน้อยได้ฟังแล้วหน้าเปลี่ยนสีทันที เธอบอกว่าเจ้าขาวเล่าว่าพ่อเขาเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีของแคมมารูน ส่วนตัวเขาเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนตอนนี้มาค้นหาตำราเกี่ยวกับสมุนไพรที่เมืองหนังสือโดยทุนของรัฐบาลแคนนาดา

เธอพาเจ้าขาวไปเยี่ยมพ่อแม่แล้ว เธอว่านี่คือคู่ของเธอแน่ๆ เห็นแต่แรกก็ประทับใจเลย ถามคนเขาดูเขาว่าเป็นเพื่อนเฮียสมบูรณ์ และเป็นหุ้นส่วนเมืองหนังสือด้วย ตอนนี้เธอมีความสุขอย่างประหลาด คิดถึงเจ้าขาวทั้งวันทั้งคืน เธอบอกว่าพ่อแม่ไม่ขัดข้อง แต่ขอให้ดูให้ดี ๆ คนจะพูดอะไรก็พูดได้ ขอให้หาความจริง ให้ดี ผมเลยบอกว่าใช่เลย คนที่รู้ความจริงอยู่ที่นี่แล้ว และในฐานะที่มีลูกสาวอยู่เหมือนกัน ขอแนะนำว่าเปลี่ยนใจได้เลย โชคดีนะที่ผมมาในวันนี้ หากช้าไปอีกอาทิตย์เดียวจบแน่ เพราะทั้งคู่ต่างไฟแรง ผมเลยหันไปคุยกับเจ้าขาวว่า ดีใจด้วยในความรักของสูเจ้าทั้งสอง แต่ตามธรรมเนียมไทย ลูกสาวจะเชื่อพ่อแม่มาก ไม่อย่างนั้นจะถูกตัดออกจากกองมรดก ส่วนพ่อแม่เขาจะต้องขอดูฐานะว่าที่ลูกเขยก่อนว่าจะรับผิดชอบลูกสาวเขาได้ไหม เจ้าขาวก็บอกว่าเขารู้ดีในเรื่องนี้ และได้พยายามคุยกับพ่อที่แคมมารูนแล้ว แต่ยังติดต่อไม่ได้ พูดไปก็ทำตาละห้อยเหมือนกับจะให้ผมช่วยอย่างนั้นแหละ แต่ผมแกล้งทำเป็นไม่รู้เรื่อง กลับบอกเจ้าขาวว่าบางกรณีฝ่ายหญิงก็จะให้ฝ่ายชายยืมเงินแบบลับ ๆ ก็ได้ โดยเฉพาะหากสูเจ้าได้ฟันเธอแล้ว ดูเจ้าขาวจะมีกำลังใจขึ้นเยอะเลย แต่ผมก็พูดต่อไปว่าสาวน้อยเขาเป็นคนที่กว้างขวางในเขตนี้ ดังนั้นหากเรื่องเงินทองยังไม่เรียบร้อย มีข้อห้ามอยู่สองข้อ

หนึ่ง:ห้ามไปที่บ้านสาวน้อยอีกเป็นอันขาด เขาจะไม่ต้อนรับ และจะไม่ชอบหน้า และอาจถูกห้ามคบหาต่อไป

สอง: นายจะพบสาวน้อยได้เฉพาะเวลากลางวัน และห้ามถูกเนื้อถูกตัว ถ้าทำผิดกติกาก็จะต้องเลิกเจอกันเลย เจ้าขาวได้แต่พยักหน้าเข้าใจ แต่คงคิดว่าแล้วข้าจะทำยังไงวะ

ก่อนจากกันผมก็หันไปบอกสาวน้อยว่า ผมได้พยายามทำดีที่สุดแล้ว ซึ่งหากเธอจะเสร็จมันก็เป็นเรื่องช่วยไม่ได้นะ ห้ามไว้ใจหรือใกล้มันเด็ดขาด เจ้าขาวนี้ถือว่าเป็นตัวอันตรายจริง ๆ ถ้ามีปัญหาอีก ผมจะส่งเจ้าขาวกลับกรุงเทพทันที

ในขณะเดียวกันก็บอกเจ้าขาวให้เร่ง ๆ หน่อย เพราะภายใน 10 วันถ้าไม่มีอะไรคืนหน้า ก็คงต้องจบกันเพียงเท่านี้

ส่วนสาวน้อยก็ไห้วผมอย่างงาม ๆ หนึ่งครั้ง และพูดเบา ๆ ว่า “ขอบคุณลุงมากเลย ตอนนี้หนูตาสว่างแล้ว”

เรื่องนี้ผมสงสารเจ้าขาวอยู่เหมือนกัน นึกไปถึงลุงสุข สูงสว่างเจ้านายผม ที่เคยติดตามฝรั่งมิชั่นนารีไปถึงฝรั่งเศส แล้วไม่มีงานทำ วันทั้งวันขลุกอยู่แต่ในห้องสมุด อ่านอย่างเดียว เพราะแกชอบอ่าน นอกจากนี้ยังช่วยเขาทำความสะอาดเพื่อแลกกับอาหารเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่แล้วก็มีสาวน้อยผมทองมาติดพัน โดยนึกว่าเป็น เจ้าชายแห่งสยามประเทศ แต่เรื่องราวของลุงสุข ไม่มีคนอย่างผมมาขัดขวาง จนลุงสุขสามารถพาสาวน้อยผมทองกลับมาเมืองไทย และเปิดร้านหนังสือ “ดวงกมล” ให้เป็นที่รู้จักทั่วบ้านทั่วเมือง

คลิก..กลับไปหน้าแรก