ช่วง พ.ศ. 2485 ประเทศไทยมีช้าง มากกว่ารถยนต์ ที่วิ่งกันเต็มบ้านเต็มเมืองอยู่ในขณะนี้ จำนวนรถยนต์ เริ่มแซงหน้า ประชากรช้างประมาณ ปี 2490 ในขณะเดียวกัน ช้างก็ลดลงเรื่อย ๆ จนถึง พ.ศ.2545 มีการสำรวจพบว่า มีช้างเลี้ยงอยู่ประมาณ 2000 เชือก และช้างป่าอีก 3000 ตัว และที่แปลกที่สุดก็คือ จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีช้างเลี้ยงมากที่สุดในประเทศไทย เพราะช้างเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว และบรรดาโรงแรมทั้งหลายต่างอยากได้ช้างไปเป็นสัตว์เลี้ยงคู่บารมีของโรงแรม นอกจากนี้ช้างยังเป็นที่ต้องการของบรรดาสวนสัตว์ในต่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยเราก็ได้จัดการส่งไปแลกสัตว์ต่าง ๆ ของต่างประเทศเช่นเดียวกัน บางครั้งก็ทำให้เข้าใจว่ามีการแอบแฝงการค้าช้างอยู่เบื้องหลัง ซึ่งมีองค์กรเกี่ยวกับสัตว์ ออกมาต่อต้านกิจกรรมดังกล่าว ของทางราชการ
ก่อนปี พ.ศ. 2505แหล่งหนึ่งที่มีช้างเลี้ยงมากที่สุดในเมืองไทย คือจังหวัดนครสวรรค์ หรือเรียกกันว่าปากน้ำโพ เพราะเป็นศูนย์กลางและตลาดของสัตว์เลี้ยงทุกประเภทมีการเคลื่นย้ายช้างเป็นโขลง จากทั่วทุกทิศไปรวมกันที่ปากน้ำโพ แถวชุมแสง เชื่อมต่อกับบึงบรเพ็ด โดยอาศัยป่าโปร่ง เป็นที่พักช้าง เพื่อแลกเปลี่ยนและซื้อขายช้างกัน และเกิดธุรกิจค้าและแกะสลักงาช้าง ตามมาอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ในช่วงนั้นอำเภอหนึ่งที่ได้ชื่อว่าเป็นตลาดกลางของช้างและงาช้างก็คือ อำเภอพยุหะคีรี หรือ ที่เรียกว่าว่าบ้านแด่น ช้างที่พวกพ่อค้าซื้อขายกัน เพื่อเอาไปใช้งาน ก็มีการเอาไปให้หลวงพ่อเจิม เพื่อความสิริมงคล เหมือนเช่นรถยนต์ ที่เอาไปให้หลวงพ่อตามวัดต่าง ๆ เจิมก่อนออกใช้งาน หลวงพ่อที่ขึ้นชื่อลือชามากองค์หนึ่ง ก็คือหลวงพ่อเดิม แห่งวัดหนองโพ เขตต่อระหว่าง พยุหะคีรี---ตาคลี---- มโนรมย์ นอกจากการเจิมแบบธรรมดาแล้ว บางทีก็มีเรื่องบุญบารมีของผู้เป็นเจ้าของช้าง ที่ได้ช้างเชือกใหม่ และเกิดการฝันร้ายหรือนิมิตไม่ดี จนต้องเอาช้างที่ซื้อไว้ ไปฝากหลวงพ่อ เพื่อช่วยปัดเป่าปัญหา บางทีเอาไปฝากหลวงพ่อเลี้ยงไว้เป็นปีก็มี ส่วนหลวงพ่อก็มี ผลประโยชน์ทางอ้อม จากการที่บรรดาผู้เอาช้างมากฝากและไม่ยอมมารับคืน หลวงพ่อก็ใจดี รับเอาไว้เป็นของวัด จนทำให้เกิดตำนานของช้าง ครอบครัวหนึ่ง ที่หลวงพ่อเดิมได้รับฝากแล้วเจ้าของหายไปเลย ก็คือช้าง 4 พี่น้อง ที่เจ้าของเขาปล่อยให้เป็นภาระของหลวงพ่อเดิม นานกว่า 10 ปีจนหลวงพ่อมรณะ ช้างตระกูลนี้มีด้วยกัน 4 เชือกมีชื่อว่า สมควร สมบูรณ์ ดำรง และปทุมทอง สามตัวแรกเป็นช้างพัง ตัวสุดท้ายเป็นช้างพลาย (ตัวเมีย) ในวันสิ้นบุญหลวงพ่อเดิม เมื่อเดือนพฤษภาคม 2494 ช้างครอบครัวนี้ ได้แสดงกตัญญูต่อหลวงพ่อ ด้วยอาการเศร้าโศก เหมือนเช่นบรรดาลูกศิษย์ทั้งหลาย มีการหลั่งน้ำตา และไม่ยอมกินข้าวปลาอาหาร ทำให้บรรดาชาวบ้านต่างกล่าวกันถึง ความกตัญญูของช้างครอบครัวนี้ จนกระทั่งทุกวันนี้ ว่ามากกว่าคน
หลังจากนั้นชาวบ้านแห่งวัดหนองโพ ก็ไม่รู้จะทำอย่างดีกับช้างโขลงนี้ก็เลยนำช้างทั้งหมดไปประมูลเอาเงินเข้าวัด ช้างทั้งหมดจึงแยกจากกัน แต่ทั้งหมดก็ยังอยู่ในเขตจังหวัดนครสวรรค์ โดยจะอยู่กันที่ ตาคลี พยุหะคีรี ท่าตะโก ซึ่งข้อมูลที่เหลืออยู่ก็คือ พังสมบูรณ์ และพลายปทุมทอง
พังสมบูรณ์ เจ้าของเอาไปเลี้ยงที่ท่าตะโก เจ้าของเป็นผู้มีอันจะกิน และชอบสนุก แบบเพลย์บอย มีผลทำให้พังสมบูรณ์ กลายเป็นช้างขี้เมาแบบเจ้าของ และเป็นตัวตลกของชาวบ้านแถวท่าตะโก คือทำตัวน่ารักจะให้ทำอะไรก็ทำเพียงเพื่อขอให้มีเหล้ากินเท่านั้น จนกลายเป็นว่าเย็นมาเป็นต้องมีอาการอยากเหล้าจะให้ทำอะไรพังสมบูรณ์ ยอมหมด เป็นที่ครึกครื้น และใคร ๆ ที่ผ่านไปแถว ๆ ท่าตะโกก็ต้องแวะไปเยี่ยมเยียนพร้อมซื้อเหล้าให้กินเป็นไห ๆ จนกระทั่งเมื่อพังสมบูรณ์ อายุได้ 30 ปีก็ต้องจากโลกนี้ไป คงเป็นเพราะ ตับแข็ง ทุกวันนี้ตะขอประจำตัวของพังสมบูรณ์ ยังถูกเก็บไว้เป็นอย่างดีบนหิ้งพระของ อดีตคนทรงเจ้าแม่ทับทิมชื่อยายน้อยแห่งบ้านน้ำทรง อำเภอพยุหะคีรีใครสนใจก็ไปขอดู แล้วขอหวย โดยอย่างลืมเสียค่าครูคนละ 39 บาทด้วย
ส่วนพลายปทุมทอง ถูกเอาไป เลี้ยงที่อำเภอพยุหะคีรี เป็นช้างสาวนิสัยดี ถูกฝึกให้เป็นช้างนำขบวนแห่งานมงคลต่าง ๆ โดยเฉพาะงานบวช งานใดมีพลายปทุมทองให้พ่อนาคนั่ง ก็ถือว่าเป็นงานใหญ่ ซึ่งเรื่องนี้ทำให้เจ้าขอพลายปทุมทอง ต้องผิดใจกับเจ้าของงานอยู่เนื่อง ๆ เพราะมีการแย่งกันเป็นเจ้าภาพ ถึงขนาดเจ้าภาพถูกยิงตายก็ยังมี เพราะบังอาจใช้อำนาจเงินแย่งพลายปทุมทองมานำขบวนงานบวช
พลายปทุมทอง มีลูกทั้งหมด 4 เชือก แต่ตายหมด เหลือเพียงเชือกเดียวชื่อกองเงิน เจ้ากองนี้เป็นที่รักของพลายปทุมทองและชาวพยุหะเป็นอย่างมาก เพราะเข้าร่วมขบวนแห่งด้วยทุกครั้ง ไม่เคยอยู่ห่างแม่เลย เจ้าปทุมทองเป็นช้างแสนรู้จริง ๆ วันใดที่จะไปเดินแห่และเจ้าของไม่ยอมพาเจ้ากองเงินไปด้วย ก็จะเกิดอาการอารมณ์ไม่ดี และไม่ยอมทำตามคำสั่ง จนกว่าจะจัดให้เจ้ากองเงินได้ร่วมเดินทางไปด้วย และเมื่อกองเงินอายุได้ 8 ปี พลายปทุมทองผู้แม่ ก็ต้องเสียชีวิตลงเพราะเป็นบาดทะยัก สาเหตุจากเช้าหลังด้านขวาไปเหยียบตะปู กว่าเจ้าของจะรู้ก็สายเสียแล้ว เมื่อสิ้นแม่ เจ้ากองเงิน ก็ต้องรับหน้าที่เป็นประธานในการร่วมขบวนแห่ของชาวพยุหะ เช่นเดิมแต่เชือกเดียว นอกจากนั้นยังได้รับเชิญให้ไปโชว์ตัวจังหวัดต่าง ๆ เพื่อให้ชาวบ้านในที่อื่น ๆ ได้เห็นความสามารถพิเศษต่าง ๆ ที่ทึ่งมากก็ตรงที่ เวลามีคนให้ของ ถ้าเป็นผลไม้ก็จะจัดการกินเลย ไม่ให้คนให้เสียใจ ส่วนถ้าเป็นเงิน ไม่ว่าจะเป็นเหรียญ หรือแบงค์ ก็จะยัดเยียดให้เจ้าของ โดยเอางวงรับไว้ แล้วไปซุกใส่กระเป๋าเจ้าของทันที เจ้าของพยายามแกล้งปัดไม่ยอมรับ ก็ไม่ยอม จะพยายามใส่กระเป๋าให้ได้ ดูเป็นที่สนุกสนานของผู้พบเห็น และกองเงินสามารถทำตามคำสั่งได้ทุกอย่าง ตอนกองเงินอายุ 9 ปีได้ออกไปเที่ยวที่ชัยภูมิ แล้วโดนช้างพังตัวหนึ่ง ขึ้นขี่ ขณะเจ้าของเผลอ ทำให้เจ้าของโกรธมาก ถึงกับขึ้นโรงพักแจ้งความ แบบว่าลูกสาวถูกข่มขึ้นอย่างนั้นแหละ ซึ่งตำรวจก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะกฎหมายไม่มีข้อใดให้ช่วยเหลือ จึงเป็นข่าวให้ชาวบ้านเม้าและติดตามกันนานทีเดียว เหตุการณ์ในวันนั้นมีผลทำให้เจ้ากองเงินเกิดอาการอ้วนอย่างทันตา และนานเป็นปี จนผู้เขียนซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ อยากรู้ว่าตั้งท้องจริงหรือไม่เลยไปซื้อน้ำยาสำหรับทดสอบการตั้งท้องของคนมาโหลหนึ่ง จัดการทดสอบกับฉี่เจ้ากองเงิน และไม่ปรากฏผลทางวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด การเข้าไปร่วมทดสอบครั้งนี้ ทำเอาผู้เขียนมีปัญหากับภรรยานานพอสมควร เพราะคนขายยาไปเที่ยวพูดกับคนในตลาด และจนรู้ไปถึงภรรยา จนผู้เขียนต้องพาไปหาความจริง กับเจ้าของพลายกองเงิน ที่พยุหะคีรี เรื่องถึงจบแต่เธอยังข้องใจอยู่ว่า ทำไมผู้เขียนถึงรู้เรื่องการทดลองด้วยน้ำยา หลังจากการทดสอบเจ้ากองเงินก็กลับมามีหุ่นดี ไม่อ้วนเหมือนที่เคยเป็น กองเงินรับงานเป็นประธานขบวนแห่งนานถึง อายุ 23 และเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2548 ก็เกิดอาการป่วยแบบเหงา ๆ ซึม ๆ ในป่าใกล้บ้าน โดยมีเจ้าของอยู่ใกล้ ๆ เวลาเจอเจ้าของก็เอางวงล้วงไปในกระเป๋าเอากุญแจรถยนต์ออกมาส่งให้เจ้าของ แล้วส่งเสียครางดัง ๆ เจ้าของไม่รู้ว่ากองเงินต้องการอะไร แต่จะกลับไปทำธุระ กองเงินก็รั้งตัวไว้ไม่ยอมให้ไป ทำให้เจ้าของแปลกใจมาก แต่แล้วห้าชั่วโมงต่อมา กองเงินก็ทิ้งตัวลง แล้วพ่นน้ำลายออกมาแรง ๆ 2 ครั้งแล้วก็สิ้นใจ เจ้าของก็ตะลึงในเหตุการณ์ จึงได้พาหมอมาตรวจ พบว่า ที่ปลายงวงมีรอยแผล เป็นเขี้ยวงู จึงสรุปว่า กองเงินต้องตายลงเพราะถูกงูแมวเซากัด การสิ้นใจของกองเงินในวันที่ที่ 13 กรกฎาคม ชาวพยุหะต่างเศร้าสลดไปตาม ๆ กัน แต่ก็เป็นวันที่พวกเขาจำได้แม่น เพราะหวยในงวดต่อมา สองตัวล่างออกเป็นเลย 13 ตามวันตายของเจ้ากองเงิน กองเงินถูกฝังไว้บริเวณเชิงเขาหลังศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์นครสวรรค์ ใกล้ ๆ กับ ที่ฝังพลายปทุมทองผู้เป็นแม่ ส่วนเรื่องราวของกองเงินช้างตัวสุดท้ายของจังหวัดนครสวรรค์ ขอจบลงเท่านี้